เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1027] เราได้เรียนมาจากพระพุทธเจ้า 82,000 พระธรรมขันธ์
จากภิกษุ 2,000 พระธรรมขันธ์
จึงรวมธรรมที่เราช่ำชองคล่องปากได้ 84,000 พระธรรมขันธ์
[1028] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท1
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่
[1029] ผู้ที่มีการศึกษามาก กลับดูหมิ่นผู้ที่มีการศึกษาน้อย
เพราะการศึกษาเป็นเหตุ ย่อมปรากฏแก่เรา
เหมือนคนตาบอดถือดวงประทีปไป
[1030] บุคคลพึงเข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้เป็นพหูสูต
ทั้งไม่ควรทำสุตะ2ให้เสื่อมสูญไป
เพราะความเป็นพหูสูตนั้นเป็นรากเง่าของพรหมจรรย์
ฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม
[1031] บุคคลรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายภาษิต
รู้อรรถแห่งภาษิต ฉลาดในนิรุตติ และในบท3
เรียนธรรมให้รู้ให้เข้าใจดีและพิจารณาเนื้อความ
[1032] เขาก็ทำความพอใจด้วยความอดทน
พยายามพิจารณาไตร่ตรองถึงนามรูปนั้น
เริ่มตั้งความเพียรในเวลา(ที่ควรประคองจิตเป็นต้น)
จึงจะพึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในภายในได้
[1033] ผู้หวังความรู้แจ้งธรรมพึงคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต
ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวกเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
1 โคถึกที่มีกำลัง (ขุ.เถร.อ. 2/1028/466)
2 ความเป็นผู้มีการศึกษามากด้วยการเล่าเรียน (ขุ.เถร.อ. 2/1030/467)
3 ปฏิสัมภิทาทั้ง 4 คือในนิรุตติปฏิสัมภิทาและในปฏิสัมภิทา 3 ที่เหลือ (ขุ.เถร.อ. 2/1031/467)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :508 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1034] บุคคลผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้นเป็นดวงตาและเป็นปูชนียบุคคล
ของชาวโลกทั้งมวล
[1035] ภิกษุมีธรรม1 เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ก็ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
[1036] ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย
เมื่อกายและชีวิตเสื่อมไปอยู่
เธอไม่ขยันหมั่นเพียร ยังติดความสุขทางกาย
จะมีความอยู่ผาสุกด้วยความเป็นสมณะได้แต่ที่ไหน
[1037] ทิศทุกทิศ ไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่เรา
เมื่อพระธรรมเสนาบดีซึ่งเป็นกัลยาณมิตร นิพพานเสียแล้ว
โลกนี้ทั้งหมดปรากฏเหมือนกับว่ามืดมิด
[1038] กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ปราศจากสหาย
ผู้มีพระศาสดาล่วงลับหมือนกายคตาสติ
[1039] มิตรเก่า ก็ล่วงลับไป จิตของเราไม่ยอมสมาคมกับมิตรใหม่
วันนี้เรานั้น ขอเข้าฌานอยู่คนเดียว
เหมือนกับนกเข้าอยู่ประจำรังในฤดูฝน
(พระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนทเถระด้วยพระพุทธภาษิตว่า)
[1040] เธออย่าได้ห้ามชนหมู่มากผู้เป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันพบเรา
ชนเหล่านั้นซึ่งมุ่งฟังธรรม จงเข้าพบเราได้
นี้แหละเป็นเวลาเข้าพบเรา

เชิงอรรถ :
1 สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. 1035/468)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :509 }