เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1013] พระเถระผู้ประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระศาสดาทรงให้เป็นไป มีปัญญามาก มีจิตตั้งมั่น
เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ และไฟ ไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย
[1014] ภิกษุถึงที่สุดสาวกปัญญาบารมี มีความรู้มาก เป็นมหามุนี
ไม่โง่เขลา ไม่ใช่เหมือนผู้โง่เขลา เป็นผู้เย็นอยู่เป็นนิตย์
[1015] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[1016] ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา
เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ

3. อานนทเถรคาถา
ภาษิตของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อสังคายนาพระธรรมได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1017] บัณฑิตไม่พึงทำความเป็นสหายกับคนพูดส่อเสียด 1
คนมักโกรธ 1 คนตระหนี่ 1 คนชอบใจที่จะให้ผู้อื่นพินาศ 1
เพราะการสมาคมกับคนชั่วเป็นความเลว 1
[1018] บัณฑิตพึงทำความเป็นสหายกับคนที่มีศรัทธา 1
มีศีลเป็นที่รัก 1 มีปัญญา 1 เป็นพหูสูต 1
เพราะการสมาคมกับคนดีทั้งหลายเป็นความเจริญ
[1019] ขอเชิญดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก 300 ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :506 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1020] ขอเชิญดูอัตภาพที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูแต่งให้วิจิตร
ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า
[1021] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[1022] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[1023] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[1024] พระอานนทเถระผู้โคตมโคตร เป็นพหูสูต
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นพุทธอุปัฏฐาก
ปลงภาระได้แล้ว พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
พอเอนกายลงนอน
[1025] สิ้นอาสวะ พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ดับกิเลสได้สนิท
ถึงฝั่งแห่งความเกิดและความตาย
ยังทรงร่างกาย ซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[1026] ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ตั้งอยู่เฉพาะในบุรุษพิเศษใด
บุรุษพิเศษนั้น คือพระอานนทโคตมโคตร
ยังดำรงอยู่ในหนทางเป็นที่ดำเนินไปสู่นิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :507 }