เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[1007] ภิกษุผู้สงบระงับ ไม่มีความคับแค้น
มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลอันงาม
เป็นปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้
(พระสารีบุตรเถระปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรที่เชื่อพระเทวทัตต์ จึงได้กล่าว
ภาษิตทั้งหลายไว้ว่า)
[1008] บุคคลไม่พึงไว้ใจในปุถุชนบางพวก
ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต
แม้เบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ภายหลังจะเป็นคนไม่ดี
หรือเบื้องต้นเป็นคนไม่ดี ภายหลังจะกลับเป็นคนดีก็ตาม
[1009] นิวรณธรรม 5 เหล่านี้ คือ
(1) กามฉันทะ (2) พยาบาท (3) ถีนมิทธะ
(4) อุทธัจจกุกกุจจะ (5) วิจิกิจฉา
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองใจของภิกษุ
[1010] สมาธิของภิกษุใดผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ 2 ประการ คือ
(1) ด้วยมีผู้สักการะ (2) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
[1011] ภิกษุผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน1นั้น
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ
[1012] มหาสมุทร 1 แผ่นดิน 1 ภูเขา 1 ลม 1
ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐ
ของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
1 ความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. 2/1011/437)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :505 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1013] พระเถระผู้ประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระศาสดาทรงให้เป็นไป มีปัญญามาก มีจิตตั้งมั่น
เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ และไฟ ไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย
[1014] ภิกษุถึงที่สุดสาวกปัญญาบารมี มีความรู้มาก เป็นมหามุนี
ไม่โง่เขลา ไม่ใช่เหมือนผู้โง่เขลา เป็นผู้เย็นอยู่เป็นนิตย์
[1015] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[1016] ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา
เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ

3. อานนทเถรคาถา
ภาษิตของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อสังคายนาพระธรรมได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1017] บัณฑิตไม่พึงทำความเป็นสหายกับคนพูดส่อเสียด 1
คนมักโกรธ 1 คนตระหนี่ 1 คนชอบใจที่จะให้ผู้อื่นพินาศ 1
เพราะการสมาคมกับคนชั่วเป็นความเลว 1
[1018] บัณฑิตพึงทำความเป็นสหายกับคนที่มีศรัทธา 1
มีศีลเป็นที่รัก 1 มีปัญญา 1 เป็นพหูสูต 1
เพราะการสมาคมกับคนดีทั้งหลายเป็นความเจริญ
[1019] ขอเชิญดูอัตภาพที่ผ้าและอาภรณ์เป็นต้นทำให้วิจิตร
มีกายเป็นแผล มีกระดูก 300 ท่อนเป็นโครงร่าง
กระสับกระส่าย ที่พวกคนเขลาดำริหวังกันส่วนมาก
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :506 }