เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[1001] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้
[1002] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เราคอยเวลาอันควร
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
(และเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จึงได้กล่าวไว้อีก 2 ภาษิตว่า)
[1003] ความตายนี้มีแน่นอนใน 2 คราว
คือ คราวแก่และคราวหนุ่มจะไม่ตาย ไม่มี
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าพินาศเลย
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
[1004] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่
(พระสารีบุตรเถระ พบท่านพระมหาโกฏฐิตะเมื่อจะประกาศเกียรติคุณของท่าน
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1005] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่น
[1006] ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากการทำความชั่ว
มักพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้แล้ว
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ลอยไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :504 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[1007] ภิกษุผู้สงบระงับ ไม่มีความคับแค้น
มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลอันงาม
เป็นปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้
(พระสารีบุตรเถระปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรที่เชื่อพระเทวทัตต์ จึงได้กล่าว
ภาษิตทั้งหลายไว้ว่า)
[1008] บุคคลไม่พึงไว้ใจในปุถุชนบางพวก
ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต
แม้เบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ภายหลังจะเป็นคนไม่ดี
หรือเบื้องต้นเป็นคนไม่ดี ภายหลังจะกลับเป็นคนดีก็ตาม
[1009] นิวรณธรรม 5 เหล่านี้ คือ
(1) กามฉันทะ (2) พยาบาท (3) ถีนมิทธะ
(4) อุทธัจจกุกกุจจะ (5) วิจิกิจฉา
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองใจของภิกษุ
[1010] สมาธิของภิกษุใดผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ 2 ประการ คือ
(1) ด้วยมีผู้สักการะ (2) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
[1011] ภิกษุผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน1นั้น
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ
[1012] มหาสมุทร 1 แผ่นดิน 1 ภูเขา 1 ลม 1
ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐ
ของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
1 ความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. 2/1011/437)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :505 }