เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[990] ส่วนภิกษุใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว
ยินดีแล้วในทางแห่งธรรมซึ่งเป็นเหตุไม่ให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้นบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
[991] พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน
[992] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้น ไม่แสวงหากาม
[993] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[994] ผู้ใดพึงกล่าวสอนพร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย
[995] พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุ
ได้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่
เรามุ่งประโยชน์ ได้ตั้งใจฟัง
การตั้งใจฟังของเรานั้น ไม่ไร้ประโยชน์
จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วหาอาสวะมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :502 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[996] เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาไว้
เพื่อปุพเพนิวาสญาณ1 ทิพพจักขุญาณ2
เจโตปริยญาณ3 อิทธิวิธญาณ4
จุตูปปาตญาณ5 และทิพพโสตญาณ6
(ยักษ์กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[997] พระเถระโล้นชื่ออุปติสสะนั่นแหละ
ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา
ครองผ้าสังฆาฏิอาศัยโคนไม้นั่นเองนั่งเข้าฌานอยู่
[998] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[999] ภูเขาศิลาล้วน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา
(พระสารีบุตรเถระฟังคำของสามเณรนั้นแล้ว จึงได้กล่าวภาษิตว่า)
[1000] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่าตนมีจิตเสมอกัน ทั้งตาย ทั้งเป็นอยู่ จึง
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

เชิงอรรถ :
1 ความรู้ที่เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ทั้งของตนและของผู้อื่น
2 ความรู้คือดวงตาทิพย์
3 ความรู้กำหนดใจผู้อื่นได้
4 ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
5 ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
6 ความรู้ที่ทำให้ฟังได้ยินหมดตามปรารถนา (หูทิพย์) 1-6 (ขุ.เถร.อ. 2/996/443)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :503 }