เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 1. ปุสสเถรคาถา
[964] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชายกย่องเหล่าภิกษุผู้ไม่
มีลาภ ทั้งจะไม่คบค้าสมาคมกับเหล่าภิกษุผู้รักษาศีลดี
ซึ่งเป็นนักปราชญ์
[965] จะห่มจีวรสีแดงที่คนป่าชอบย้อมใช้
พากันติเตียนผ้ากาสาวะซึ่งเป็นธงชัยของตน
บางพวกก็จะห่มจีวรสีขาว ซึ่งเป็นธงชัยของพวกเดียรถีย์
[966] ในกาลภายหน้า ภิกษุเหล่านั้นจะไม่มีความเคารพในผ้ากาสาวะ
ทั้งจะไม่พิจารณาใช้ผ้ากาสาวะ
[967] การไม่คิดพิจารณาให้ดี
ได้เป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวงของพญาช้าง
ที่ถูกลูกศรเสียบแทง
ถูกทุกขเวทนาครอบงำทุรนทุรายอยู่
[968] เพราะครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์
ได้เห็นผ้ากาสาวะ ซึ่งโสณุตตรพรานคลุมร่างไว้
ที่ย้อมดีแล้วเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ในขณะนั้นแหละว่า
[969] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด
ปราศจากทมะ และสัจจะ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[970] ส่วนผู้ใดพึงคลายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแหละควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้

เชิงอรรถ :
1 ความฝึกอินทรีย์ (ขุ.เถร.อ.2/969/404)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :498 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 1. ปุสสเถรคาถา
[971] ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบทำตามความพอใจ มีจิตฟุ้งซ่าน ทั้งไม่บริสุทธิ์
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[972] ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่นดี มีความดำริในใจใสสะอาด
ผู้นั้นแหละ ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้
[973] ผู้ที่ไม่มีศีล ฟุ้งซ่าน มีมานะจัด เป็นคนพาล
ควรที่จะนุ่งห่มผ้าขาวเท่านั้น
ผ้ากาสาวะจะช่วยอะไรได้
[974] ในกาลภายหน้า ทั้งพวกภิกษุและภิกษุณี
ผู้มีใจชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ
จะข่มขี่ฝ่ายที่คงที่มีจิตเมตตา
[975] พวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม
ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ
ถึงพระเถระทั้งหลาย จะสอนให้ครองจีวร ก็จักไม่เชื่อฟัง
[976] พวกเธอซึ่งเป็นคนโง่เขลา
พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนอย่างนั้น
ก็จะไม่เคารพกันและกัน
ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์
เหมือนม้าพยศไม่ยอมให้สารถีฝึก
[977] ครั้นกาลภายหลัง(ตติยสังคายนา)ผ่านไปแล้ว
พวกภิกษุและภิกษุณีในกาลภายหน้า จักปฏิบัติกันอย่างนี้
(ครั้นพระปุสสเถระแสดงภัยอย่างใหญ่หลวงที่ยังมาไม่ถึงนั้นจะมาถึงในกาล
ภายหน้าอย่างนั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึง
ได้กล่าว 3 ภาษิตเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :499 }