เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 9.อนุรุทธเถรคาถา
[914] ปราบไพรีให้พ่ายแพ้
ได้ครองราชเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
จอมมนุษย์ในชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรสาครทั้ง 4
เป็นขอบเขต 7 ครั้ง
ได้ปกครองปวงประชากรโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา
[915] ได้ระลึกชาติก่อนในคราวที่อยู่ในเทวโลกได้ 14 ชาติ
คือ ครั้งที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 7 ชาติ
ครั้งที่เป็นท้าวสักกะ 7 ชาติ
[916] เมื่อสมาธิประกอบด้วยองค์1 5 มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ได้ความสงบระงับแล้ว
ทิพยจักษุของเราจึงหมดจด
[917] เราดำรงมั่นอยู่ในฌานที่ประกอบด้วยองค์2 5
จึงรู้จุติและอุบัติ
การมา การไปของสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น
[918] เราปรนนิบัติพระศาสดา ฯลฯ
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[919] จะปรินิพพานอย่างไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นชีวิต
ภายใต้พุ่มไม้ไผ่ใกล้เวฬุวคาม แคว้นวัชชี

เชิงอรรถ :
1 องค์ 5 คือ (1) การแผ่ปีติ (2) การแผ่สุข (3) การแผ่จิต (4) การแผ่แสงสว่าง และ (5) การพิจารณา
นิมิต (ขุ.เถร.อ. 2/916/383)
2 ฌานที่ประกอบด้วยองค์ 5 ในที่นี้คือสมาธิประกอบด้วยองค์ 5 นั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :490 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 10. ปาราปริยเถรคาถา
10. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายรจนาคาถานี้ว่า)
[920] พระปาราปริยเถระผู้เป็นสมณะ
มีจิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว
ชอบสงัด นั่งเจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่
ในฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า
[921] เมื่อพระโลกนาถซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายได้เป็นอย่างหนึ่ง
บัดนี้ เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว
ย่อมปรากฏเป็นอีกอย่างหนึ่ง
[922] ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ได้นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑลเพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวความ
ร้อนและลม ปกปิดอวัยวะที่จะให้เกิดความละอายเท่านั้น
[923] ได้ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม
น้อยก็ตาม มากก็ตาม เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ไม่ติด
ไม่พัวพัน
[924] ไม่ได้ขวนขวายจนเกินไปในยาแก้ไข้
ซึ่งเป็นบริขารเครื่องรักษาชีวิต เหมือนขวนขวายในความสิ้นอาสวะ
[925] พอกพูนวิเวก มุ่งแต่วิเวก
อยู่ในป่า โคนต้นไม้ ซอกเขา และถ้ำ
[926] อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน
มีใจไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ไม่ปากร้าย
ไฝ่คิดแต่ประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นสำคัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :491 }