เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 9. อนุรุทธเถรคาถา
[907] บัดนี้ ธรรมเหล่านี้ซึ่งมีสัมผัสเป็นที่ 5
ของพระมหามุนีได้สิ้นสุดลง
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
จิตและเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป
[908] เทวดา บัดนี้ เราไม่มีการอยู่คือการอุบัติในหมู่เทพอีกต่อไป
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
[909] ภิกษุใดรู้แจ้งมนุษยโลกเทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลก
ซึ่งมีประเภทตั้งพันได้ในกาลครู่เดียว
ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณคือฤทธิ์
ในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้น ย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ในขณะที่เกิด
[910] ชาติก่อน เรามีชื่ออันนภาระ
เป็นคนยากจน เที่ยวรับจ้างเลี้ยงชีพ
ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้สงบ ผู้มียศ
[911] เรานั้นเกิดในศากยสกุล
พระประยูรญาติทรงขนานนามให้เราว่า อนุรุทธะ
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง
มีเสียงดนตรีที่บรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า
[912] ครั้นต่อมา เราได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หาภัยแต่ที่ไหนมิได้
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้วบวชเป็นบรรพชิต
[913] เรารู้จักขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมาก่อน
เกิดเป็นท้าวสักกะในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :489 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 9.อนุรุทธเถรคาถา
[914] ปราบไพรีให้พ่ายแพ้
ได้ครองราชเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
จอมมนุษย์ในชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรสาครทั้ง 4
เป็นขอบเขต 7 ครั้ง
ได้ปกครองปวงประชากรโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา
[915] ได้ระลึกชาติก่อนในคราวที่อยู่ในเทวโลกได้ 14 ชาติ
คือ ครั้งที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 7 ชาติ
ครั้งที่เป็นท้าวสักกะ 7 ชาติ
[916] เมื่อสมาธิประกอบด้วยองค์1 5 มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ได้ความสงบระงับแล้ว
ทิพยจักษุของเราจึงหมดจด
[917] เราดำรงมั่นอยู่ในฌานที่ประกอบด้วยองค์2 5
จึงรู้จุติและอุบัติ
การมา การไปของสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น
[918] เราปรนนิบัติพระศาสดา ฯลฯ
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[919] จะปรินิพพานอย่างไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นชีวิต
ภายใต้พุ่มไม้ไผ่ใกล้เวฬุวคาม แคว้นวัชชี

เชิงอรรถ :
1 องค์ 5 คือ (1) การแผ่ปีติ (2) การแผ่สุข (3) การแผ่จิต (4) การแผ่แสงสว่าง และ (5) การพิจารณา
นิมิต (ขุ.เถร.อ. 2/916/383)
2 ฌานที่ประกอบด้วยองค์ 5 ในที่นี้คือสมาธิประกอบด้วยองค์ 5 นั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :490 }