เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 9. อนุรุทธเถรคาถา
[893] บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้อง
มีเสียงดนตรีที่บรรเลงปลุกให้รื่นเริงใจอยู่ทุกค่ำเช้า
ย่อมไม่บรรลุถึงความบริสุทธิ์ด้วยการบริโภคกามนั้น
ยังยินดีในกามคุณซึ่งเป็นวิสัยของมาร
[894] ส่วนอนุรุทธะนี่แหละ ล่วงกามคุณ 5 นี้ได้แล้ว
ยินดีในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ล่วงโอฆะทั้งปวงได้แล้ว เข้าฌานอยู่
[895] และล่วงกามคุณ 5 เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่น่ารื่นรมย์ใจ เข้าฌานอยู่
[896] อนุรุทธะ เป็นปราชญ์ ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว
เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลแต่ผู้เดียวไม่มีเพื่อน
[897] อนุรุทธะ ผู้เป็นปราชญ์ มีปัญญา ไม่มีอาสวะ
เที่ยวเลือกหาแต่ผ้าบังสุกุล
ครั้นได้แล้ว ซัก ย้อมเอง แล้วนุ่งห่ม
[898] บาปธรรมที่เศร้าหมองเหล่านี้ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้มักมาก
ไม่สันโดษ ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ และมีจิตฟุ้งซ่าน
[899] ส่วนภิกษุผู้มีสติ มักน้อย สันโดษ
ไม่มีความขัดเคือง ยินดีในวิเวก
ชอบสงัด ปรารภความเพียรเป็นประจำ
[900] ย่อมมีแต่กุศลธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายให้ตรัสรู้เหล่านี้
ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ก็ตรัสว่า
ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :487 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 9. อนุรุทธเถรคาถา
[901] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของเราแล้ว
เสด็จมาหาเราด้วยพระวรกายที่สำเร็จโดยมโนมยิทธิ1
[902] เมื่อใด เรามีความดำริ
เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วก็เสด็จมาหาเราด้วยฤทธิ์
ได้ทรงแสดงธรรมอันยิ่งแก่เรา
พระพุทธเจ้าผู้ทรงยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ได้ทรงแสดงธรรมที่ไม่เนิ่นช้าแก่เราไว้แล้ว
[903] เราได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์
ยินดีอยู่ในคำสอนของพระองค์
บรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[904] ตั้งแต่เวลาที่เราถือการไม่นอนเป็นวัตรตลอด 55 ปี
กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนได้ มาเป็นเวลา 25 ปี
พระอนุรุทธเถระ(เมื่อภิกษุทั้งหลายถามในเวลาที่พระศาสดาเสด็จดับขันธปริ-
นิพพานว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือยัง ได้ประกาศว่า พระผู้มีพระภาค
ปรินิพพานแล้ว ด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[905] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่
ไม่ได้มีลมหายใจเข้าหายใจออก
พระองค์ไม่ทรงหวั่นไหว ปรารภความสงบ
มีพระจักษุ เสด็จปรินิพพานแล้ว
[906] ทรงมีพระหฤทัยไม่หดหู่ อดกลั้นเวทนาได้
มีพระหฤทัยหลุดพ้นไป
เหมือนดวงประทีปที่ลุกโชนแล้วก็ดับไป

เชิงอรรถ :
1 ฤทธิ์ทางใจ ฤทธิ์ที่นิรมิตด้วยใจ (ขุ.เถร.อ. 2/901/379)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :488 }