เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 8. อังคุลิมาลเถรคาถา
[863] เมื่อก่อน ข้าพระองค์มีหมู่ทหาร
ถือดาบคอยคุ้มครองรักษาอยู่ในพระนคร
ซึ่งมีป้อมและซุ้มประตูอย่างแข็งแรง
ซึ่งแวดล้อมด้วยกำแพงเป็นวงกลม สูงลิ่ว อยู่อย่างหวาดระแวง
[864] บัดนี้ ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
เป็นผู้เจริญ ไม่หวาดระแวง ละความหวาดกลัวภัยเสียได้
มาสู่ป่า เพ่งพินิจอยู่
[865] ดำรงมั่นอยู่ในกองศีล เจริญสติและปัญญาอยู่
ได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งหมดแล้ว โดยลำดับ

8. อังคุลิมาลเถรคาถา
ภาษิตของพระองคุลิมาลเถระ
(พระองคุลิมาลเถระ ครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยภาษิตว่า)
[866] ท่านสมณะ ท่านยังเดินอยู่ แต่กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว
และกล่าวหาเราซึ่งหยุดแล้วว่า ไม่หยุด
ท่านสมณะ เราขอถามท่านถึงความข้อนี้ที่ว่า
ท่านหยุดแล้ว แต่เราซิ ไม่หยุด อย่างไรกัน
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบองคุลิมาลโจรนั้นด้วยพระคาถาว่า)
[867] องคุลิมาล เราได้ละทิ้งโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งมวลอยู่ทุกเมื่อ
ส่วนท่านซิไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว
ส่วนท่านชื่อว่ายังไม่หยุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :482 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 8. อังคุลิมาลเถรคาถา
(องคุลิมาลโจร กราบทูลว่า)
[868] เป็นเวลานานหนอที่พระองค์ซึ่งเป็นสมณะ
ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกบูชา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสู่ป่าใหญ่เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์
ข้าพระองค์นั้น ได้สดับพระพุทธภาษิต
ซึ่งประกอบด้วยธรรมของพระองค์จะเลิกละบาปตั้งพัน
(พระสังคีติกาจารย์ ได้รจนา 2 ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[869] ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลแล้ว
ก็ได้โยนดาบและอาวุธทิ้งเหวซึ่งทั้งกว้างและลึก
ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทพระสุคต
ได้ทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นนั่นเอง
[870] ทันใดนั้นเอง พระพุทธเจ้า ทรงมีพระกรุณา
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ได้ตรัสกับองคุลิมาลโจรนั้นว่า
จงเป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้
องคุลิมาลโจรนั้น ก็ได้เป็นภิกษุ
(พระองคุลิมาลเถระเกิดปีติโสมนัส จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[871] ผู้ใด ประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลัง ไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ
[872] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดปิดกั้นเสียได้ ด้วยกุศล
ผู้นั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :483 }