เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 5. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
[811] เมื่อพระโยคีนั้น ดมกลิ่น หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏ ย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[812] ผู้ที่ลิ้มรสแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในรส มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งรสารมณ์นั้น และไม่ติดรสารมณ์นั้นอยู่
[813] เมื่อพระโยคีนั้นลิ้มรส หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[814] ผู้ที่ถูกต้องโผฏฐัพพะแล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในโผฏฐัพพะ มีจิตคลายความกำหนัด
รู้แจ้งโผฏฐัพพารมณ์นั้น และไม่ติดโผฏฐัพพารมณ์นั้นอยู่
[815] เมื่อพระโยคีนั้น ถูกต้องโผฏฐัพพะ หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้นเป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[816] ผู้ที่รู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติอยู่เฉพาะหน้า
ไม่กำหนัดยินดีในธรรมารมณ์
มีจิตคลายความกำหนัด รู้แจ้งธรรมารมณ์นั้น
และไม่ติดธรรมารมณ์นั้นอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :475 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 6. เสลเถรคาถา
[817] เมื่อพระโยคีนั้น รู้แจ้งธรรมารมณ์หรือแม้เสวยเวทนา
โดยที่กิเลสมีอภิชฌาเป็นต้น เป็นไปไม่ได้
กิเลสวัฏย่อมสิ้นไป ย่อมก่อรากขึ้นไม่ได้
ท่านมีสติประพฤติอยู่อย่างนี้ เมื่อไม่ก่อวัฏฏทุกข์อย่างนี้
ท่านกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน

6. เสลเถรคาถา
ภาษิตของพระเสลเถระ
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ ได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยภาษิต 6 ภาษิตว่า)
[818] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว
ทรงมีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์
มีพระรัศมีที่ซ่านออกจากพระวรกายงดงาม
สวยงามน่าทัศนายิ่งนัก
พระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดังทองคำ พระเขี้ยวแก้วทั้งซ้ายขวาก็สุกใส
[819] เพราะพระลักษณะแห่งมหาบุรุษ
ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น
ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน
[820] พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส พระพักตร์ผุดผ่อง
พระวรกายสูงใหญ่ตรง
มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองท่ามกลางหมู่สมณะ
เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่
[821] พระองค์เป็นภิกษุ มีพระคุณสมบัติงดงามน่าชม
มีพระฉวีวรรณ ผุดผ่องดังทองคำ
พระองค์ทรงมีวรรณสูงส่งถึงเพียงนี้ จะเป็นสมณะไปทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :476 }