เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 4. รัฏฐปาลเถรคาถา
[786] โจรผู้ทำกรรมถูกเขาจับได้ตรงทาง 3 แยก
ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด
หมู่สัตว์ผู้ทำกรรมชั่ว ตายไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า
เพราะกรรมของตน ฉันนั้น
[787] เพราะกามทั้งหลายที่งดงามน่าปรารถนาชวนให้รื่นรมย์ใจ
ย่อมย่ำยีจิตโดยสภาวะต่าง ๆ ฉะนั้น
อาตมาเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงได้บวช มหาบพิตร
[788] สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ พอร่างแตกสลายก็ล่วงไป
เหมือนผลไม้สุกงอมร่วงหล่นไป
มหาบพิตร อาตมาเห็นความไม่เที่ยงแม้นี้ จึงได้บวช
ความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ผิดนั่นแหละ ประเสริฐกว่า
[789] อาตมาบวชด้วยศรัทธาได้ปฏิบัติชอบในพระศาสนาของพระชินเจ้า
การบวชของอาตมาไม่มีโทษ อาตมาฉันอาหารอย่างไม่เป็นหนี้
[790] พิจารณาเห็นกามทั้งหลายโดยความเป็นของร้อน
เงินทองโดยความเป็นศัสตรา ทุกข์ตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ และ
ภัยใหญ่ในนรก
[791] ครั้นเห็นโทษนี้แล้ว จึงได้ความสังเวชในครั้งนั้น
ในคราวนั้น อาตมานั้นเป็นผู้ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงอยู่
บัดนี้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
[792] อาตมาปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักเสียได้
ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[793] อาตมาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง
อาตมาก็ได้บรรลุแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :471 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 5. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
5. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระมาลุงกยบุตรเถระ
(พระมาลุงกยบุตรเถระได้กล่าวภาสิตเหล่านี้ว่า)
[794] เมื่อเห็นรูป มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รักอยู่
ย่อมหลงลืมสติได้
ผู้ที่มีจิตกำหนัดนักยังเสวยรูปารมณ์อยู่
[795] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา1 และวิหิงสา2 ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่ายังห่างไกลนิพพาน
[796] เมื่อฟังเสียงแล้ว มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รักอยู่
ย่อมหลงลืมสติได้
ผู้ที่มีจิตกำหนัดนัก ยังเสวยสัททารมณ์อยู่
สัททารมณ์นั้นย่อมผูกพันเขาไว้
[797] เวทนาต่าง ๆ ซึ่งมีเสียงเป็นอารมณ์ ย่อมเจริญแก่เขา
อภิชฌา และวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของเขา
เพราะสั่งสมอย่างนี้ ทุกข์ย่อมเป็นไป
ท่านกล่าวว่ายังห่างไกลนิพพาน
[798] เมื่อบุคคลดมกลิ่นแล้ว ใส่ใจว่าเป็นนิมิตที่น่ายินดี
ก็เป็นอันหลงลืมสติ
ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เขามีจิตกำหนัดนัก
เพลิดเพลิน และติดคันธารมณ์นั้นอยู่

เชิงอรรถ :
1 ความเพ่งเล็งอยากได้จัด (ขุ.เถร.อ. 2/795/335)
2 ความพยาบาท (ขุ.เถร.อ. 2/792/335)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :472 }