เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 2. ปาราปริยเถรคาถา
2. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระปาราปริยเถระเมื่อจะประกาศอาการที่ตนคิด จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[726] ภิกษุชื่อปาราปริยะ เป็นสมณะ นั่งอยู่แต่ลำพังผู้เดียว
มีจิตสงบสงัดเข้าฌานอยู่ ได้มีความคิดว่า
[727] คนพึงทำอะไรโดยลำดับ
ประพฤติวัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร
จึงจะชื่อว่าพึงทำกิจของตนและไม่เบียดเบียนใคร ๆ
[728] อินทรีย์ทั้งหลายนั่นแหละ ย่อมมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์
และไม่เป็นประโยชน์สำหรับมวลมนุษย์
อินทรีย์ที่ไม่ได้ระวังรักษาย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
ส่วนอินทรีย์ที่ระวังรักษาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
[729] คนที่ระวังรักษาและคุ้มครองอินทรีย์เท่านั้น
ชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจของตน และไม่พึงเบียดเบียนใคร ๆ
[730] ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ที่เป็นไปในรูปทั้งหลายมักไม่เห็นโทษ
ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย
[731] อนึ่ง ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์ที่เป็นไปในเสียงทั้งหลาย
มักไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย
[732] หากผู้ใดไม่เห็นอุบายเป็นที่สลัดออก ส้องเสพกลิ่น
ผู้นั้นยังติดอยู่ในกลิ่น ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้
[733] ผู้ใดยังคำนึงถึงรสเปรี้ยว รสหวาน และรสขม
ติดอยู่ในความอยากในรส ย่อมไม่รู้สึกถึงความคิดในใจที่เกิดขึ้นว่า
เราจะทำที่สุดทุกข์ ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้
[734] ผู้ใดยังนึกถึงโผฏฐัพพะที่สวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งมีราคะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :463 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 2.ปาราปริยเถรคาถา
[735] ผู้ใดไม่อาจระวังรักษาใจจากธรรมารมณ์เหล่านี้
ทุกข์ที่เกิดจากกระแสอารมณ์ทั้ง 5 ย่อมติดตามผู้นั้น
เพราะไม่ระวังรักษาใจนั้น
[736] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง เลือด และซากศพเป็นจำนวนมาก
ที่นรชนผู้กล้าสร้างไว้ เกลี้ยงเกลา วิจิตรงดงามแต่ภายนอก
ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีคูถเป็นต้น ดุจสมุก
[737] ที่เผ็ดร้อน มีรสหวานชื่นใจ ผูกพันด้วยความรัก
เป็นทุกข์ ฉาบไว้ด้วยของที่น่าชื่นใจภายนอก
ดุจมีดโกนทาน้ำผึ้งที่คนเขลาไม่รู้ซึ้งฉะนั้น
[738] บุรุษที่ยังกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น (รส) และโผฏฐัพพะ
ของสตรี ย่อมประสบทุกข์ต่าง ๆ
[739] กระแสตัณหาในสตรีทั้ง 5 ย่อมไหลไปในทวารทั้ง 5 ของบุรุษ
ผู้ใดมีความเพียรอาจทำการป้องกันกระแสตัณหาทั้ง 5 นั้นได้
[740] ผู้นั้น มีความรู้ตั้งอยู่ในธรรม ขยัน มีปัญญาเครื่องพิจารณา
ถึงจะยินดีอยู่ ก็พึงทำกิจที่ประกอบด้วยเหตุผลได้
[741] ถ้ายังติดอยู่กับการประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน
ควรเว้นกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นผู้ไม่ประมาท
มีปัญญาเครื่องพิจารณา รู้ว่ากิจนั้นไม่ควรทำแล้ว พึงเว้นเสีย
[742] ควรยึดกิจที่ประกอบประโยชน์ในปัจจุบัน
และความยินดีที่ประกอบด้วยธรรม ประพฤติ เพราะความยินดี
นั้นแล ชื่อว่าเป็นความยินดีสูงสุด
[743] ผู้ใดปรารถนาจะใช้อุบายต่าง ๆ ช่วงชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่น
ฆ่า เบียดเบียนผู้อื่น และทำผู้อื่นให้เศร้าโศก
ฉกชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่นด้วยความทารุณ ร้ายกาจ
การกระทำของผู้นั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :464 }