เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 1.อธิมุตตเถรคาถา
[720] พวกโจรฟังคำของพระอธิมุตตเถระนั้นซึ่งน่าอัศจรรย์
ทำให้ขนชูชันนั้นแล้ว วางศัสตราวุธแล้ว
ได้กล่าวเนื้อความนี้ว่า
[721] ท่านผู้เจริญ ท่านไม่มีความเศร้าโศกนี้
เพราะท่านทำกรรมอะไรไว้
หรือใครเป็นอาจารย์ของท่าน
หรือเพราะอาศัยคำสอนของใคร
พระอธิมุตตเถระ (ได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะให้คำตอบ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[722] พระศาสดาผู้เป็นสัพพัญญู ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง
ทรงชนะหมู่มาร มีพระกรุณาอย่างใหญ่หลวง
ทรงเยียวยารักษาสัตว์โลกทั้งมวล
เป็นอาจารย์ของอาตมา
[723] พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ที่ให้ถึงความสิ้นอาสวะอย่างยอดเยี่ยมนี้ไว้
เพราะอาศัยคำสั่งสอนของพระองค์
อาตมาจึงได้ความไม่เศร้าโศกนี้แล
[724] พวกโจรฟังคำสุภาษิตของพระอธิมุตตเถระผู้เป็นฤๅษี
จึงพากันวางศัสตราและอาวุธ
บางพวกก็ได้งดเว้นกรรมนั้น
และบางพวกก็ได้ขอบวช
[725] พวกเขา ครั้นบวชในพระศาสนาของพระสุคต
เจริญโพชฌงค์ 7 และพละ 5 แล้ว
เป็นบัณฑิต มีจิตเบิกบาน ยินดี อบรมอินทรีย์แล้ว
ได้บรรลุสันตบทคือนิพพาน อันไม่มีปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :462 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 2. ปาราปริยเถรคาถา
2. ปาราปริยเถรคาถา
ภาษิตของพระปาราปริยเถระ
(พระปาราปริยเถระเมื่อจะประกาศอาการที่ตนคิด จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[726] ภิกษุชื่อปาราปริยะ เป็นสมณะ นั่งอยู่แต่ลำพังผู้เดียว
มีจิตสงบสงัดเข้าฌานอยู่ ได้มีความคิดว่า
[727] คนพึงทำอะไรโดยลำดับ
ประพฤติวัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร
จึงจะชื่อว่าพึงทำกิจของตนและไม่เบียดเบียนใคร ๆ
[728] อินทรีย์ทั้งหลายนั่นแหละ ย่อมมีไว้เพื่อเป็นประโยชน์
และไม่เป็นประโยชน์สำหรับมวลมนุษย์
อินทรีย์ที่ไม่ได้ระวังรักษาย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
ส่วนอินทรีย์ที่ระวังรักษาแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
[729] คนที่ระวังรักษาและคุ้มครองอินทรีย์เท่านั้น
ชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจของตน และไม่พึงเบียดเบียนใคร ๆ
[730] ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ที่เป็นไปในรูปทั้งหลายมักไม่เห็นโทษ
ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย
[731] อนึ่ง ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์ที่เป็นไปในเสียงทั้งหลาย
มักไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย
[732] หากผู้ใดไม่เห็นอุบายเป็นที่สลัดออก ส้องเสพกลิ่น
ผู้นั้นยังติดอยู่ในกลิ่น ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้
[733] ผู้ใดยังคำนึงถึงรสเปรี้ยว รสหวาน และรสขม
ติดอยู่ในความอยากในรส ย่อมไม่รู้สึกถึงความคิดในใจที่เกิดขึ้นว่า
เราจะทำที่สุดทุกข์ ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากทุกข์ไม่ได้
[734] ผู้ใดยังนึกถึงโผฏฐัพพะที่สวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งมีราคะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :463 }