เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 1. อธิมุตตเถรคาถา
[712] ผู้บรรลุสภาวธรรมชั้นสูงสุด ไม่มีความเยื่อใยในโลกทั้งมวล
เมื่อจะตายก็ไม่เศร้าโศก เหมือนคนที่พ้นจากเรือนที่ถูกไฟไหม้
[713] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า
ความเกี่ยวข้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ภพที่ได้ในหมู่สัตว์ก็ดี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า
สิ่งนี้ทั้งหมดไม่มีอิสระ
[714] พระอริยสาวกผู้รู้แจ้งภพ 3 นั้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
ไม่ยึดภพไร ๆ เหมือนคนไม่จับก้อนเหล็กแดงลุกโชน
[715] อาตมาไม่มีความคิดว่า
เราได้เป็น เราจะเป็น เราจักไม่เป็นเช่นนี้อีก
สังขารทั้งหลายจักดับไป อาตมาจะคร่ำครวญถึงสังขารนั้นไปทำไม
[716] ท่านหัวหน้า สำหรับผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรม
ล้วน ๆ ความสืบเนื่องแห่งสังขารล้วน ๆ ตามที่เป็นจริง
ย่อมไม่มีความกลัว
[717] เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นโลกว่า
เสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น เขาซึ่งไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี
[718] อาตมาเบื่อหน่ายร่างกาย ไม่ต้องการภพ
กายนี้จะแตก และจะไม่มีกายอื่นอีก
[719] หากพวกท่านปรารถนาจะทำกิจใดด้วยร่างกาย
ขอเชิญทำกิจนั้นได้ตามความปรารถนาเถิด
ในการทำหรือไม่ทำนั้น อาตมาจะไม่มีทั้งความเคียดแค้นและพอใจ
เพราะการทำนั้นเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :461 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 1.อธิมุตตเถรคาถา
[720] พวกโจรฟังคำของพระอธิมุตตเถระนั้นซึ่งน่าอัศจรรย์
ทำให้ขนชูชันนั้นแล้ว วางศัสตราวุธแล้ว
ได้กล่าวเนื้อความนี้ว่า
[721] ท่านผู้เจริญ ท่านไม่มีความเศร้าโศกนี้
เพราะท่านทำกรรมอะไรไว้
หรือใครเป็นอาจารย์ของท่าน
หรือเพราะอาศัยคำสอนของใคร
พระอธิมุตตเถระ (ได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะให้คำตอบ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[722] พระศาสดาผู้เป็นสัพพัญญู ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง
ทรงชนะหมู่มาร มีพระกรุณาอย่างใหญ่หลวง
ทรงเยียวยารักษาสัตว์โลกทั้งมวล
เป็นอาจารย์ของอาตมา
[723] พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
ที่ให้ถึงความสิ้นอาสวะอย่างยอดเยี่ยมนี้ไว้
เพราะอาศัยคำสั่งสอนของพระองค์
อาตมาจึงได้ความไม่เศร้าโศกนี้แล
[724] พวกโจรฟังคำสุภาษิตของพระอธิมุตตเถระผู้เป็นฤๅษี
จึงพากันวางศัสตราและอาวุธ
บางพวกก็ได้งดเว้นกรรมนั้น
และบางพวกก็ได้ขอบวช
[725] พวกเขา ครั้นบวชในพระศาสนาของพระสุคต
เจริญโพชฌงค์ 7 และพละ 5 แล้ว
เป็นบัณฑิต มีจิตเบิกบาน ยินดี อบรมอินทรีย์แล้ว
ได้บรรลุสันตบทคือนิพพาน อันไม่มีปัจจัยอะไร ๆ ปรุงแต่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :462 }