เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 1. อธิมุตตเถรคาถา
16. วีสตินิบาต
1. อธิมุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระอธิมุตตเถระ
(หัวหน้าโจร เมื่อจะสรรเสริญพระเถระ ได้กล่าว 2 ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[705] เมื่อก่อน เหล่าสัตว์ที่พวกเราฆ่าเพื่อบูชายัญหรือเพื่อทรัพย์
ย่อมเกิดความกลัวทั้งนั้น ย่อมพากันหวาดหวั่นและบ่นเพ้อรำพัน
[706] ท่านนั้นไม่มีความกลัว สีหน้าผ่องใสยิ่งนัก
เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่คร่ำครวญ ในเมื่อเกิดภัยใหญ่เช่นนี้
(พระเถระ เมื่อจะแสดงธรรมโปรดหัวหน้าโจร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[707] ท่านหัวหน้า สำหรับผู้ที่ไม่เยื่อใยในชีวิตย่อมไม่มีทุกข์ทางใจ
ภัยทุกอย่างผู้ที่สิ้นสังโยชน์ล่วงพ้นภัยทุกอย่างได้แล้ว
[708] เมื่อสิ้นตัณหาที่นำไปสู่ภพก็ย่อมไม่มีความกลัวตายโดยประการ
ใดประการหนึ่งในปัจจุบันนั้น เหมือนคนที่ไม่กลัวความหนัก ในเมื่อ
วางของหนักลงแล้ว
[709] พรหมจรรย์อาตมาประพฤติดีแล้ว
และแม้มรรคอาตมาก็อบรมดีแล้ว
อาตมาจึงไม่มีความกลัวตาย เหมือนคนไม่กลัวโรคในเมื่อหายโรค
[710] พรหมจรรย์อาตมาประพฤติดีแล้ว
และแม้มรรคอาตมาก็อบรมดีแล้ว
อาตมาได้เห็นภพว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี
เหมือนคนดื่มยาพิษแล้วสำรอกออกมา
[711] ผู้ที่ถึงฝั่ง ไม่ยึดมั่น เสร็จกิจ หมดอาสวะ
ย่อมพอใจเพราะความสิ้นอายุ
เหมือนผู้ร้ายพ้นจากการถูกประหารชีวิต ก็ร่าเริงยินดีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :460 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 1. อธิมุตตเถรคาถา
[712] ผู้บรรลุสภาวธรรมชั้นสูงสุด ไม่มีความเยื่อใยในโลกทั้งมวล
เมื่อจะตายก็ไม่เศร้าโศก เหมือนคนที่พ้นจากเรือนที่ถูกไฟไหม้
[713] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า
ความเกี่ยวข้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ภพที่ได้ในหมู่สัตว์ก็ดี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสว่า
สิ่งนี้ทั้งหมดไม่มีอิสระ
[714] พระอริยสาวกผู้รู้แจ้งภพ 3 นั้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
ไม่ยึดภพไร ๆ เหมือนคนไม่จับก้อนเหล็กแดงลุกโชน
[715] อาตมาไม่มีความคิดว่า
เราได้เป็น เราจะเป็น เราจักไม่เป็นเช่นนี้อีก
สังขารทั้งหลายจักดับไป อาตมาจะคร่ำครวญถึงสังขารนั้นไปทำไม
[716] ท่านหัวหน้า สำหรับผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรม
ล้วน ๆ ความสืบเนื่องแห่งสังขารล้วน ๆ ตามที่เป็นจริง
ย่อมไม่มีความกลัว
[717] เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นโลกว่า
เสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น เขาซึ่งไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี
[718] อาตมาเบื่อหน่ายร่างกาย ไม่ต้องการภพ
กายนี้จะแตก และจะไม่มีกายอื่นอีก
[719] หากพวกท่านปรารถนาจะทำกิจใดด้วยร่างกาย
ขอเชิญทำกิจนั้นได้ตามความปรารถนาเถิด
ในการทำหรือไม่ทำนั้น อาตมาจะไม่มีทั้งความเคียดแค้นและพอใจ
เพราะการทำนั้นเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :461 }