เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [15. โสฬสกนิบาต] 1. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
15. โสฬสกนิบาต
1. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
ภาษิตของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
(ท้าวสักกเทวราชตรัสภาษิตที่ 1 ว่า)
[673] ข้าพเจ้านี้สดับธรรมซึ่งมีอรรถรสมาก จึงเลื่อมใสอย่างยิ่ง
ธรรมที่คลายกำหนัดพอใจ เพราะไม่ยึดมั่นโดยสิ้นเชิง
พระคุณท่านแสดงไว้แล้ว
(พระอัญญาโกณฑัญญเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[674] อารมณ์ที่วิจิตรในโลกมากมาย
เห็นจะย่ำยีคนที่ยังมีความดำริถึงอารมณ์ ว่างาม
ซึ่งประกอบด้วยราคะในพื้นปฐพีนี้
[675] เมื่อฝนห่าใหญ่ตกลงมาช่วยระงับฝุ่นธุลีที่ลมพัดให้ฟุ้งขึ้นได้ ฉันใด
เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา
เมื่อนั้น ความดำริผิดย่อมระงับไปได้ ฉันนั้น
[676] เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
[677] เมื่อใด พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
[678] เมื่อใด พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :455 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [15. โสฬสกนิบาต] 1. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
[679] อัญญาโกณฑัญญเถระผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า
ได้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า ละความเกิดและความตายได้
บำเพ็ญมัคคพรหมจรรย์อย่างบริบูรณ์สิ้นเชิง
[680] ตัดบ่วงคือโอฆะ1 ตะปูตรึงใจ2อย่างมั่นคง
และทำลายภูเขาที่ทำลายได้ยากแล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งคือนิพพาน มีปกติเข้าฌาน
พ้นจากเครื่องผูกคือกิเลสมารได้แล้ว
[681] ภิกษุที่ยังมีจิตฟุ้งซ่าน กลับกลอก
คบหาแต่มิตรชั่ว ถูกคลื่น(คือความผูกโกรธ)ซัดไป
จมในห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร
[682] ส่วนภิกษุที่มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญารักษาตน
สำรวมอินทรีย์ คบหาแต่มิตรดี
เป็นนักปราชญ์ พึงทำความสิ้นทุกข์ได้
[683] นรชนผู้รู้ประมาณในข้าวและน้ำย่อมซูบผอม
มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นคล้ายเถาหญ้านาง แต่มีใจไม่ย่อท้อ
[684] ถูกฝูงเหลือบและยุงกัดในป่าใหญ่
พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายนั้น เหมือนช้างในสงคราม
[685] อาตมาไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่รอคอยเวลาอยู่ เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
[686] อาตมาไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่อาตมามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า คอยเวลาอันควร

เชิงอรรถ :
1 ห้วงน้ำ 4 อย่าง คือ (1) กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม (2) ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ (3) ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำตือ
ทิฏฐิ (4) อวิชโชฆะ ห้วงน้ำคืออวิชชา (ขุ.เถร.อ. 2/680/283)
2 ตะปูตรึงใจมี 5 อย่าง คือ (1) ความสงสัยในพระศาสดา (2) ในพระธรรม ( 3) ในพระสงฆ์ (4) ในการ
ศึกษา (5) โกรธไม่พอใจในเพื่อนพรหมจรรย์ (ขุ.เถร.อ. 2/680/284)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :456 }