เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [14. จุททสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[666] การไม่ได้ลาภโดยธรรม กับการได้ลาภโดยไม่ชอบธรรม
2 อย่างนี้ การไม่ได้ลาภแต่ชอบธรรมประเสรฐิกว่า
การได้ลาภโดยไม่ชอบธรรมไม่ประเสริฐเลย
[667] ผู้ไม่มีความรู้ มียศ กับผู้มีความรู้แต่ไม่มียศ
2 จำพวกนี้ ผู้มีความรู้ แต่ไม่มียศ ประเสริฐกว่า
ผู้ไม่มีความรู้ มียศ ไม่ประเสริฐเลย
[668] การที่คนพาลสรรเสริญ กับการที่บัณฑิตติเตียน
2 อย่างนี้ การที่บัณฑิตติเตียนนั่นแหละประเสริฐกว่า
การที่คนพาลสรรเสริญไม่ประเสริฐเลย
[669] ความสุขที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ
กับความทุกข์ที่เกิดแต่ความสงัด
2 อย่างนี้ ความทุกข์ที่เกิดแต่ความสงัด ประเสริฐกว่า
ความสุขที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณ ไม่ประเสริฐเลย
[670] ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรม กับความตายโดยชอบธรรม
2 อย่างนี้ ความตายโดยชอบธรรมประเสริฐกว่า
ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรม ไม่ประเสริฐเลย
[671] ท่านเหล่าใดละความยินดี ยินร้ายได้
มีจิตสงบ เที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ในโลก
ท่านเหล่านั้นไม่มีความรักหรือความชัง
[672] เจริญโพชฌงค์ 7 อินทรีย์ 5 และพละ 5
บรรลุความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน
จุททสกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระเถระ 2 รูปนี้ มีฤทธิ์มาก คือ
1. พระขทิรวนิยเรวตเถระ 2. พระโคทัตตเถระ
ในจุททสกนิบาตนี้ มี 28 คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :454 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [15. โสฬสกนิบาต] 1. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
15. โสฬสกนิบาต
1. อัญญาสิโกณฑัญญเถรคาถา
ภาษิตของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
(ท้าวสักกเทวราชตรัสภาษิตที่ 1 ว่า)
[673] ข้าพเจ้านี้สดับธรรมซึ่งมีอรรถรสมาก จึงเลื่อมใสอย่างยิ่ง
ธรรมที่คลายกำหนัดพอใจ เพราะไม่ยึดมั่นโดยสิ้นเชิง
พระคุณท่านแสดงไว้แล้ว
(พระอัญญาโกณฑัญญเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[674] อารมณ์ที่วิจิตรในโลกมากมาย
เห็นจะย่ำยีคนที่ยังมีความดำริถึงอารมณ์ ว่างาม
ซึ่งประกอบด้วยราคะในพื้นปฐพีนี้
[675] เมื่อฝนห่าใหญ่ตกลงมาช่วยระงับฝุ่นธุลีที่ลมพัดให้ฟุ้งขึ้นได้ ฉันใด
เมื่อใดพระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา
เมื่อนั้น ความดำริผิดย่อมระงับไปได้ ฉันนั้น
[676] เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
[677] เมื่อใด พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์
[678] เมื่อใด พระอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :455 }