เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [13. เตรสกนิบาต] 1. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
13. เตรสกนิบาต
1. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณโกฬิวิสเถระ
(พระโสณโกฬิวิสเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[632] ผู้ใดเป็นคหบดีที่ยิ่งใหญ่
สมความปรารถนาในรัฐของพระเจ้าอังคะ
วันนี้ ผู้นั้นชื่อว่าโสณะ
เป็นผู้เยี่ยมที่สุดในธรรมทั้งหลาย ได้ถึงที่สุดทุกข์
[633] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 พึงละสังโยชน์เบื้องสูง 5
และพึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่ง
ภิกษุผู้ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้ทั้ง 5
ท่านเรียกว่า ข้ามโอฆะได้แล้ว
[634] สำหรับภิกษุผู้ประมาท มีใจพองเหมือนต้นอ้อ
ยังมีความยินดีในอายตนะภายนอก
ศีล สมาธิ และปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์
[635] ภิกษุเหล่านี้ละทิ้งกิจที่ควรทำ มาทำแต่กิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของพวกเธอผู้ประมาท
มีใจพองเหมือนต้นอ้อ ย่อมเจริญ
[636] ส่วนภิกษุเหล่าใดปรารภกายคตาสติด้วยดีเป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นมักกระทำกิจที่ควรทำเป็นนิตย์ ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะของพวกเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นไป
[637] เมื่อพระศาสดาตรัสบอกทางตรงไว้แล้ว เธอทั้งหลายจงดำเนิน
ไปเถิด อย่าหยุดเสีย กุลบุตรผู้หวังประโยชน์
เมื่อเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าถึงนิพพานได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :449 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา[13. เตรสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[638] เมื่อเราบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก
พระศาสดาซึ่งมีพระจักษุยอดเยี่ยมในโลก
ได้ทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยสายพิณสอนเรา
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วยินดีอยู่ในคำสอน
[639] ทำสมถะ1ให้ถึงพร้อมเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
เราบรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสองของพุทธเจ้าแล้ว
[640] เราผู้น้อมไปในเนกขัมมะ2 และความสงัดใจ
น้อมไปในความไม่เบียดเบียน หมดความยึดมั่นถือมั่น
[641] น้อมไปในความสิ้นตัณหาและความไม่หลงแห่งใจ
เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ จิตจึงหลุดพ้นได้โดยชอบ
[642] ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ ทำกิจเสร็จแล้วนั้น
ย่อมไม่มีการสั่งสม ทั้งไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำ
[643] ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ทั้งมวล
[644] ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร
เพราะผู้คงที่นั้นได้เห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้นแล้ว
เตรสกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
1. พระโสณโกฬิวิสเถระมีฤทธิ์มากรูปเดียวเท่านั้น
และในเตรสกนิบาตนี้ มี 13 คาถา ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
1 สมาธิที่ทำให้เกิดวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. 2/639/261)
2 การออกบวช (ขุ.เถร.อ. 2/640/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :450 }