เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [12. ทวาทสกนิบาต] 1. สีลวเถรคาถา
12. ทวาทสกนิบาต
1. สีลวเถรคาถา
ภาษิตของพระสีลวเถระ
(พระสีลวเถระแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[608] กุลบุตรในสัตว์โลกนี้ผู้ใคร่ประโยชน์
พึงศึกษาศีลนั่นแหละให้เป็นอันศึกษาดีแล้วในโลกนี้
เพราะศีลที่รักษาแล้ว ย่อมนำสมบัติทุกประเภทมาให้ได้
[609] ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาความสุข 3 อย่าง
คือ การสรรเสริญ 1 การได้ความปลื้มใจ 1
การตายไปแล้วบันเทิงในสวรรค์ 1
ควรรักษาศีล
[610] เพราะผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก
ส่วนผู้ทุศีล ประพฤติแต่ความชั่ว ย่อมแตกจากมิตร
[611] นรชนผู้ทุศีลย่อมได้รับการตำหนิและติเตียน
นรชนผู้มีศีลย่อมได้รับความยกย่องชมเชยและสรรเสริญทุกเมื่อ
[612] ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง
เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย
เป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง
เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
[613] สังวรศีล เป็นเครื่องกั้นทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง
และเป็นท่าสำหรับหยั่งลงมหาสมุทรคือนิพพาน
ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :445 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [12. ทวาทสกนิบาต] 2. สุนีตเถรคาถา
[614] ศีลเป็นกำลังหาสิ่งเปรียบปานมิได้
เป็นอาวุธชั้นเยี่ยม เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ
เป็นเกราะบังอย่างน่าอัศจรรย์
[615] ศีลเป็นสะพานอันมีพลังมาก มีกลิ่นหอมอย่างยิ่ง
เป็นเครื่องลูบไล้อย่างประเสริฐ
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีล มีชื่อเสียง ระบือไปทั่วทุกทิศ
[616] ศีลเป็นกำลังที่ดีเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม
เป็นยานพาหนะชั้นประเสริฐ
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีลไปได้ทั่วทุกทิศ
[617] คนพาลมีใจไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการติฉินนินทาในโลกนี้
และตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ
ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป
[618] ธีรชนตั้งมั่นดีในศีล ย่อมได้รับชื่อเสียงในโลกนี้
และตายไปแล้ว ย่อมได้รับสุขโสมนัสในสวรรค์
ย่อมได้รับสุขโสมนัสในที่ทั่วไป
[619] ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้
ส่วนผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดทั้งในหมู่มนุษย์และหมู่เทวดา
ชัยชนะก็เพราะศีลและปัญญา

2. สุนีตเถรคาถา
ภาษิตของพระสุนีตเถระ
(พระสุนีตเถระได้บันลือสีหนาทด้วยคาถาเหล่านี้ว่า)
[620] เราเกิดมาในสกุลต่ำ ซ้ำขัดสน
มีของกินน้อย มีการงานต่ำ
ได้เป็นคนเก็บดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งไปทิ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :446 }