เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [10. ทสกนิบาต] 5. กัปปเถรคาถา
5. กัปปเถรคาถา
ภาษิตของพระกัปปเถระ
(พระศาสดาตรัสอสุภกถาสอนพระเจ้ากัปปะนั้นด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[567] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของโสโครกและมลทินต่าง ๆ
มีหลุมคูถใหญ่เป็นที่เกิด เป็นดุจบ่อน้ำครำที่มีมานาน
เป็นดุจฝีใหญ่ เป็นดุจแผลใหญ่
[568] เป็นกายเต็มไปด้วยหนองและเลือด เต็มไปด้วยหลุมคูถ
มีน้ำไหลออกเป็นนิตย์ หลั่งของเน่าเสียออกอยู่ประจำ
[569] มีเส้นเอ็นใหญ่ 60 เส้นรัดรึงไว้
มีเครื่องฉาบทาคือเนื้อฉาบทาไว้ มีเสื้อคือหนังหุ้มห่อไว้
เป็นกายเปื่อยเน่า ไม่มีประโยชน์
[570] เชื่อมต่อไว้ด้วยโครงกระดูก
เกี่ยวร้อยไว้ด้วยด้ายคือเส้นเอ็น
ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ เพราะมีมหาภูตรูป 4
ชีวิตินทรีย์ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ1
และวิญญาณเป็นต้นเกี่ยวเนื่องกัน
[571] นรชนผู้มีจิตเป็นไปตามความปรารถนา
ดำเนินไปสู่ความตายอย่างแน่นอน
อยู่ใกล้มัจจุราช ละทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้เอง
[572] ร่างกายที่ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
ถูกกิเลสเครื่องร้อยรัด 4 อย่างร้อยรัดไว้
เป็นกายจมลงในห้วงน้ำคือกิเลส
ถูกข่ายคืออนุสัยกิเลสปกคลุมไว้

เชิงอรรถ :
1 ลมหายใจออกหายใจเข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :438 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [10. ทสกนิบาต] 6. วังคันตปุตตอุปเสนคาถา
[573] ประกอบด้วยนิวรณ์ 5 เพียบพร้อมด้วยวิตก
ถูกรากเหง้าแห่งภพคือตัณหารัดรึง
ถูกเครื่องปิดบังคือโมหะปิดบังไว้
[574] ร่างกายนี้ถูกเครื่องหมุนคือกรรมให้หมุนไป จึงหมุนไปอย่างนี้
สมบัติ(ที่มีอยู่ในร่างกายนี้)มีวิบัติเป็นที่สุด
ย่อมมีความพลัดพรากกันเป็นธรรมดา
[575] เหล่าปุถุชนผู้โง่เขลาซึ่งยึดถือร่างกายนี้ว่าเป็นของเรา
ย่อมทำสังสารวัฏที่น่ากลัวให้เจริญ ทั้งยึดภพใหม่ไว้
[576] เหล่ากุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตซึ่งละร่างกายที่น่ารังเกียจนี้
คลายอวิชชา และภวตัณหาซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งภพได้แล้ว
จักปรินิพพานอย่างไม่มีอาสวะ
เหมือนคนที่ต้องการความสุขอยากมีชีวิตอยู่
เห็นอสรพิษตัวเปื้อนคูถแล้วก็หลีกหนีไปฉะนั้น

6. วังคันตปุตตอุปเสนเถรคาถา
ภาษิตของพระวังคันตปุตตอุปเสนเถระ
(พระวังคันตปุตตอุปเสนเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[577] ภิกษุพึงอยู่เสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง
ที่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ เพราะการหลีกเร้นเป็นเหตุ
[578] พึงเก็บผ้าจากกองขยะ จากป่าช้า
และตรอกน้อย ตรอกใหญ่นั้น
ทำเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม แล้วใช้จีวรที่เศร้าหมอง
[579] ภิกษุพึงคุ้มครองทวาร
สำรวมระวังทำใจให้เคารพเอื้อเฟื้อแล้ว
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับสกุล ตามลำดับตรอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :439 }