เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [10. ทสกนิบาต] 1. กาฬุทายีเถรคาถา
[531] ชาวนาหว่านพืชตามฤดูกาล
ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
ชาวนาไถนาตามฤดูกาล
รัฐจึงจะได้ข้าวเปลือกเป็นประจำ
[532] พวกผู้ขอเที่ยวขอบ่อย ๆ
พวกทานบดีก็ให้บ่อย ๆ
ครั้นทานบดีให้บ่อย ๆ แล้วก็ไปสู่สวรรค์บ่อย ๆ
[533] นักปราชญ์มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด
ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาดอย่างเดียว ถึง 7 ชั่วคน
ข้าพระองค์เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเหนือกว่าเทพ
ย่อมทรงสามารถทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์ได้
เพราะพระองค์ทรงอุบัติโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า มุนี
[534] พระราชบิดาของพระองค์พระนามว่า สุทโทธนะ
ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่
ส่วนพระมเหสีพระนามว่า มหามายา เป็นพุทธมารดา
ซึ่งถนอมพระครรภ์พระโพธิสัตว์มาแล้ว
เสด็จสวรรคตไปบันเทิงอยู่ในโลกสวรรค์(ชั้นดุสิต)
[535] พระนางมายาเทวีโคตมีพระองค์นั้นสวรรคต
จุติจากโลกนี้ เพียบพร้อมด้วยกามคุณทิพย์
มีหมู่นางฟ้าห้อมล้อม ทรงบันเทิงอยู่ด้วยกามคุณ 5
(พระกาฬุทายีเถระ ได้ถวายพระพรพระเจ้าสุทโธทนมหาราชว่า)
[536] อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้ที่ไม่มีใครย่ำยีได้
มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระวรกาย ไม่มีผู้ที่จะเปรียบปาน คงที่
มหาบพิตร พระองค์เป็นบิดาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบิดาของ
อาตมา ทั้งเป็นพระเจ้าปู่ของอาตมาโดยธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :433 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [10. ทสกนิบาต] 2. เอกวิหาริยเถรคาถา
2. เอกวิหาริยเถรคาถา
ภาษิตของพระเอกวิหาริยเถระ
(พระเอกวิหาริยเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[537] ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง
เราอยู่ในป่าผู้เดียวจะมีความผาสุกอย่างยิ่ง
[538] เอาเถอะ เราคนเดียวจะไปป่าที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า
มีแต่ความผาสุกแก่ภิกษุผู้มักอยู่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว
[539] เราผู้เดียวมุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ
จะรีบเข้าป่าใหญ่ที่ทำปีติให้เกิดแก่ผู้บำเพ็ญเพียร
น่ารื่นรมย์ ซึ่งช้างซับมันอาศัยอยู่
[540] จะอาบน้ำที่ซอกภูเขาอันเยือกเย็นในป่าร่มรื่น
มีดอกไม้บานสะพรั่ง จงกรมแต่ผู้เดียว
[541] เมื่อไร เราจะได้อยู่ป่าใหญ่ที่น่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว
ไม่มีเพื่อน ได้สำเร็จกิจ ไม่มีอาสวะ
[542] ขอความประสงค์ของเราผู้ต้องการจะทำอย่างนั้นจงสำเร็จเถิด
เราจักทำให้สำเร็จได้เอง ผู้อื่นไม่อาจทำให้ผู้อื่นได้เลย
[543] เรานี้สวมเกราะคือความเพียรอยู่ จะเข้าป่าใหญ่
ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ ก็จักไม่ออกจากป่าใหญ่นั้น
[544] เมื่อลมเย็นพัดเอากลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งมา
เราจะนั่งบนยอดเขาทำลายอวิชชา
[545] จักได้รับความสุข รื่นรมย์ด้วยวิมุตติสุข
ที่เงื้อมภูเขามีพื้นเย็นในป่า ซึ่งดารดาษด้วยดอกโกสุม แน่แท้
[546] เรานั้นมีความดำริเต็มเปี่ยม เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญ
สิ้นอาสวะทั้งปวง บัดนี้ การเกิดอีกก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :434 }