เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [9. นวกนิบาต] 1. ภูตเถรคาถา
9. นวกนิบาต
1. ภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระภูตเถระ
(พระภูตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[518] เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ว่า
ชราและมรณะเป็นทุกข์ที่ปุถุชนทั้งหลาย
ผู้ติดอยู่ในเบญจขันธ์ไม่รู้แจ้ง
เป็นผู้มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐยิ่งกว่า
ความยินดีในวิปัสสนา มรรคและผลนั้น
[519] เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
อันนำทุกข์มาให้
นำทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่องแห่งปปัญจธรรม1
มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีวิปัสสนา มรรค และผลนั้น
[520] เมื่อใด บัณฑิตสัมผัสทางอันสูงสุด ปลอดโปร่ง
ที่ให้ลุถึงมรรคมีองค์ 8 เป็นที่ชำระกิเลสได้หมด
ด้วยปัญญา มีสติ เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในวิปัสสนามรรคและผลนั้น

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงธรรมที่ทำการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายให้ยึดยาวออกไป ซึ่งได้แก่
ราคะ ความกำหนัด มานะ ความถือตัวเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. 2/519/180)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :429 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [9. นวกนิบาต] 1. ภูตเถรคาถา
[521] เมื่อใด บัณฑิตเจริญสันตบท1ซึ่งไม่มีความเศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
เป็นที่ชำระกิเลสได้หมด ตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือสังโยชน์
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในวิปัสสนา มรรค และผลนั้น
[522] เมื่อใด กลองคือเมฆพรั่งพรูไปด้วยสายฝน
คำรามอยู่ในท้องฟ้า ซึ่งเป็นทางไปของฝูงนกโดยรอบ
และภิกษุผู้อยู่ประจำเงื้อมภูเขา ยังเข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ก็ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[523] เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเข้าฌานอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย
ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีดอกไม้ป่าเป็นช่อสวยงาม
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[524] เมื่อใด มีฝนฟ้าร้องในเวลากลางคืน
ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยวงาก็พากันยินดีในป่าใหญ่ที่สงัด
และภิกษุผู้อยู่ประจำเงื้อมภูเขา เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ก็ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น
[525] เมื่อใด ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตนได้
เข้าถ้ำภายในภูเขา ปราศจากความกระวนกระวายใจ
ปราศจากกิเลสที่ตรึงใจโดยสิ้นเชิง เข้าฌานอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ความยินดีที่ประเสริฐ
ยิ่งกว่าความยินดีในฌานนั้น

เชิงอรรถ :
1 นิพพาน (ขุ.เถร.อ. 2/521/180)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :430 }