เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [8. อัฏฐกนิบาต] 2. สิริมิตตเถรคาถา
[504] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
มีศีลงาม ภิกษุนั้นละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[505] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
เป็นกัลยาณมิตร ภิกษุนั้นละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[506] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
มีปัญญาดี ภิกษุนั้นละไปแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกในโลกหน้าด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้
[507] ผู้ใดมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
มีศีล และมีกัลยาณธรรม
ที่พระอริยเจ้าปรารถนาและสรรเสริญ
[508] ผู้ใดมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์
ทั้งมีความเห็นตรง
พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ได้เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาก็ไม่ไร้ประโยชน์
[509] เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จึงควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และความเห็นธรรมไว้เนือง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :426 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [8. อัฏฐกนิบาต] 3. มหาปันถกเถรคาถา
3. มหาปันถกเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาปันถกเถระ
(พระมหาปันถกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[510] เมื่อใด เราได้เฝ้าพระศาสดา
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนเป็นครั้งแรก
เมื่อนั้น เราได้มีความสังเวช
เพราะได้เฝ้าพระองค์ผู้เป็นบุคคลสูงสุด
[511] ผู้ใดพึงใช้มือและเท้านวดพระศาสดาผู้ทรงสิริซึ่งเสด็จมา
ผู้นั้นพึงยังพระศาสดาให้ยินดีเช่นนั้นหาได้ไม่
[512] คราวนั้น เราได้ละทิ้งบุตรภรรยา ทรัพย์ และข้าวเปลือก
ปลงผม โกนหนวด ออกบวชเป็นบรรพชิต
[513] เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ
สำรวมด้วยดีในอินทรีย์ทั้งหลาย
นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้อยู่อย่างเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้มาร
[514] ต่อมา ความมุ่งมั่นที่จิตเราปรารถนาไว้ว่า
เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราไม่พึงนั่งเปล่าแม้เพียงครู่เดียว
[515] เชิญท่านดูความเพียรและความบากบั่นของเรานั้นผู้อยู่อย่างนี้
เราได้บรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[516] เรารู้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่มาก่อนได้
ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
เป็นพระอรหันต์ ผู้ควรแก่ทักษิณา
หลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :427 }