เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [6. ฉักกนิบาต] 14. สัพพกามีเถรคาถา
[448] สัตว์โลกถูกมัจจุราชคอยขจัด ถูกชรารุมล้อม
ถูกลูกศรคือตัณหาคอยทิ่มแทง
ทั้งถูกความอยากแผดเผาตลอดกาล
[449] สัตว์โลก ถูกมัจจุราชคอยขจัด และถูกชรารุมล้อม
ไม่มีที่พึ่ง ถูกเบียดเบียนอยู่เป็นนิตย์
เหมือนโจรถูกลงอาชญา
[450] ชรา พยาธิ มรณะ ทั้ง 3 เปรียบเหมือนกองไฟ
ย่อมมาย่ำยีสัตว์โลกนี้
สัตว์โลกนี้ ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้
ทั้งไม่มีความเร็วที่จะหนีไป
[451] บุคคลควรทำวันคืนไม่ให้ไร้ประโยน์
ด้วยการใส่ใจถึงวิปัสสนาไม่ว่าน้อยหรือมาก
ชีวิตของผู้ที่ผ่านวันคืนไปเท่าใด
ก็เป็นอันพร่องไปเท่านั้น
[452] วันคืนสุดท้าย ย่อมคืบคลานเข้าไปใกล้บุคคล
ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน
เพราะฉะนั้น ท่านไม่พึงประมาทกาลเวลา

14. สัพพกามีเถรคาถา
ภาษิตของพระสัพพกามีเถระ
(พระสัพพกามีเถระได้กล่าว 6 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[453] สัตว์สองเท้านี้ ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ
หลั่งของไม่สะอาดออกทั่วทั้งร่างกาย
ต้องบริหารอยู่ประจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :416 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [6. ฉักกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[454] กามคุณ 5 ย่อมลวงเบียดเบียนปุถุชน
เหมือนนายพรานแอบใช้เครื่องดัก ดักเนื้อ
เหมือนชาวประมงใช้เบ็ดตกปลา
(และ)เหมือนพรานเนื้อใช้ตังดักลิง
[455] กามคุณ 5 เหล่านั้น คือ รูป เสียง กลิ่น รส
และโผฏฐัพพะที่น่าชอบใจ ย่อมปรากฏในเรือนร่างหญิง
[456] เหล่าปุถุชนที่มีจิตกำหนัด ส้องเสพหญิงเหล่านั้นอยู่
ย่อมขยายสังสารวัฏที่น่ากลัว ย่อมก่อภพใหม่ไม่มีสิ้นสุด
[457] ส่วนผู้ใดเว้นขาดสตรีเหล่านั้น
ผู้นั้นชื่อว่ามีสติ ก้าวล่วงตัณหาที่ซ่านไปในโลกนี้ได้ด้วยดี
เหมือนคนสลัดหัวงูจากเท้า
[458] เราเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกบวชโดยความเกษม
พรากจากกามเสียได้ทั้งหมดแล้วได้ถึงความสิ้นอาสวะ
ฉักกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ

1. พระอุรุเวลกัสสปเถระ 2. พระเตกิจฉกานิเถระ
3. พระมหานาคเถระ 4. พระกุลลเถระ
5. พระมาลุงกยบุตรเถระ 6. พระสัปปทาสเถระ
7. พระกาติยานเถระ 8. พระมิคชาลเถระ
9. พระเชนตปุโรหิตบุตรเถระ 10. พระสุมนเถระ
11. พระนหาตกมุนีเถระ 12. พระพรหมทัตตเถระ
13. พระสิริมัณฑเถระ 14. พระสัพพกามีเถระ

ในนิบาตนี้ มี 84 คาถา และมีพระเถระ 14 รูป ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :417 }