เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [6. ฉักกนิบาต] 10. สุมนเถรคาถา
[424] เราเป็นคนโง่ ถูกอติมานะกำจัด มีใจกระด้างจัด ชูมานะดุจธง
จึงไม่สำคัญใคร ๆ ว่า เสมอกับตนและยิ่งกว่าตน
[425] กระด้างเพราะมานะ ไม่เอื้อเฟื้อ จึงไม่ยอมกราบไหว้ใคร ๆ
แม้เป็นมารดา บิดา และแม้ผู้อื่นที่ควรเคารพ
[426] เราได้พบพระศาสดาผู้ทรงแนะนำ
เลิศประเสริฐสูงสุดกว่าสารถีทั้งหลาย
ทรงรุ่งเรืองอยู่ดุจพระอาทิตย์ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
[427] จึงมีใจเลื่อมใส ละทิ้งมานะและความมัวเมาแล้ว
กราบไหว้พระศาสดาผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทุกหมู่เหล่าด้วยเศียรเกล้า
[428] ความถือตัวว่าดีกว่าเขา และความถือตัวว่าเลวกว่าเขา
เราละถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อัสมิมานะเราก็ตัดขาดแล้ว
มานะทุกอย่างเราก็ทำลายเสียแล้ว

10. สุมนเถรคาถา
ภาษิตของพระสุมนเถระ
(พระสุมนเถระได้กล่าว 6 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[429] เมื่อครั้งเราบวชใหม่ มีอายุได้ 7 ขวบ โดยกำเนิด
ได้ข่มพญานาค ผู้มีฤทธิ์มากด้วยฤทธิ์
[430] ได้ตักน้ำจากสระใหญ่อโนดาดมาถวายพระอุปัชฌาย์
พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นเราแล้ว ตรัสดังนี้ว่า
[431] สารีบุตร เธอจงดูเด็กน้อยนี้ ผู้มีใจตั้งมั่นดีภายใน
กำลังถือหม้อน้ำมานี้
[432] สามเณรของพระอนุรุทธะ มีวัตรน่าเลื่อมใส
มีอิริยาบถงดงาม ทั้งแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :413 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [6. ฉักกนิบาต] 11. นหาตกมุนีเถรคาถา
[433] อันพระอนุรุทธะผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ฝึกให้เป็นบุรุษอาชาไนย
ผู้เป็นคนดีฝึกให้เป็นคนดี
ผู้สำเร็จกิจแล้ว แนะนำสั่งสอนแล้ว
[434] สุมนสามเณรนั้น ได้ถึงความสงบอย่างยิ่ง
ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันไม่กำเริบพระอรหัตตผล
แล้วหวังว่าใคร ๆ อย่าพึงรู้จักเรา

11. นหาตกมุนีเถรคาถา
ภาษิตของพระนหาตกมุนีเถระ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า)
[435] เธอเมื่ออยู่ในป่าใหญ่ เป็นสถานที่ลำบากหาปัจจัยได้ยาก
ถูกโรคลมรบกวน จักทำอย่างไรละ ภิกษุ
พระนหาตกมุนีเถระ(ได้กราบทูลว่า)
[436] ข้าพระองค์จะแผ่ปีติสุขอันไพบูลย์ไปทั่วร่างกาย
ครอบงำแม้ปัจจัยที่เศร้าหมอง อยู่ในป่าใหญ่
[437] จะเจริญสติปัฏฐาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5
และโพชฌงค์ 7 อยู่ในป่าใหญ่
[438] พิจารณาเนือง ๆ ถึงจิตที่บริสุทธิ์
ซึ่งหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ขุ่นมัว จะไม่มีอาสวะอยู่
[439] อาสวะทั้งหมดของข้าพระองค์ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
ข้าพระองค์ถอนขึ้นได้ไม่เหลือเลย และจะไม่เกิดขึ้นอีก
[440] ขันธ์ 5 ข้าพระองค์กำหนดรู้แล้ว
ขันธ์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างถูกตัดรากถอนโคนแล้ว
ข้าพระองค์ได้บรรลุความสิ้นทุกข์แล้ว บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :414 }