เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [6. ฉักกนิบาต] 3. มหานาคเถรคาถา
(พระเตกิจฉกานิเถระกล่าวว่า)
[386] เราจะสัมผัสอัปปมัญญาทั้งสี่1
และจะมีความสุข อยู่ด้วยอัปปมัญญาเหล่านั้น
เราจะอยู่อย่างไม่หวั่นไหว
ไม่เดือดร้อน เพราะความหนาวอยู่

3. มหานาคเถรคาถา
ภาษิตของพระมหานาคเถระ
(พระมหานาคเถระได้กล่าว 6 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[387] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมเสื่อมจากพระสัทธรรม
เหมือนปลาในน้ำน้อย
[388] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ไม่งอกงามในพระสัทธรรม
เหมือนพืชเน่าในไร่นา
[389] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมอยู่ห่างไกลจากนิพพาน
ในพระศาสนาของพระศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา
[390] ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้น ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
เหมือนปลาในน้ำมาก

เชิงอรรถ :
1 อัปปมัญญา 4 คือ พรหมวิหาร 4 (1. เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข 2. กรุณา
ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ 3. มุทิตา ความยินดีในเมื่อผู้อื่นมีสุข 4. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง ไม่
เอนเอียงเพราะรักเพราะชัง) ที่ชื่อว่าอัปปมัญญาเพราะแผ่ไปโดยไม่มีประมาณในสัตว์ในบุคคล ไม่จำกัดขอบเขต
(ขุ.เถร.อ. 2/386/98)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :406 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [6. ฉักกนิบาต] 4. กุลลเถรคาถา
[391] ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมงอกงามในพระสัทธรรม
เหมือนพืชดีในไร่นา
[392] ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน
ในพระศาสนาของพระศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา

4. กุลลเถรคาถา
ภาษิตของพระกุลลเถระ
(พระกุลลเถระได้กล่าว 6 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[393] กุลลภิกษุ ไปป่าช้าผีดิบ
ได้เห็นซากศพหญิงที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า
ทั้งถูกหมู่หนอนบ่อนกัดกิน
[394] กุลละเอ๋ย เจ้าจงพิจารณาดูร่างกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า หลั่งของไม่สะอาดเข้าออก
ที่พวกคนเขลาชื่นชมกันนัก
[395] เราใช้แว่นคือพระธรรมส่องดูร่างกายนี้
ซึ่งว่างเปล่าทั้งภายในและภายนอก
เพื่อบรรลุญาณทัสสนะ1
[396] ร่างกายของเรานี้ กับซากศพนั้น ก็เหมือนกัน
ซากศพนั่นกับร่างกายของเรานี้ ก็เหมือนกัน
ร่างกายนี้ ท่อนล่าง ท่อนบน ก็เหมือนกัน
ท่อนบน ท่อนล่างก็เหมือนกัน

เชิงอรรถ :
1 ปัญญาหยั่งรู้ด้วยการเห็นธรรม คือ บรรลุธรรมจักษุกล่าวคือมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. 2/395/103)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :407 }