เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [5. ปัญจกนิบาต] 12. โกสิยเถรคาถา
11. โสณกุฏิกัณณเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณกุฏิกัณณเถระ
(พระโสณกุฏิกัณณเถระได้กล่าว 5 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[365] เราได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้หลุดพ้น ไม่มีอาสวะ
ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
และได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในพระวิหาร
[366] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่กลางแจ้งหลายราตรีนั่นเทียว
คราวนั้นพระศาสดา ผู้ทรงฉลาดในธรรมเป็นเครื่องอยู่
ได้เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร
[367] พระโคดมได้ทรงลาดผ้าสังฆาฏิ
สำเร็จสีหไสยาสน์ ละความขลาดกลัวได้แล้ว
เหมือนราชสีห์นอนอยู่ในถ้ำภูเขา
[368] จากนั้น โสณสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้กล่าววาจาไพเราะ
ได้กล่าวพระสัทธรรมถวาย
เบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[369] กำหนดรู้เบญจขันธ์
ทำอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางตรงให้เจริญ
บรรลุนิพพานอันสงบอย่างยิ่ง
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน

12. โกสิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโกสิยเถระ
(พระโกสิยเถระได้กล่าว 5 คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :401 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [5. ปัญจกนิบาต] 12. โกสิยเถรคาถา
[370] ผู้ใดเป็นปราชญ์ รู้คำสั่งสอนของครูทั้งหลาย
พึงอยู่ในโอวาทของท่าน
และพึงทำความเคารพให้เกิดในโอวาทของท่าน
ผู้นั้นชื่อว่ามีความภักดี เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[371] อันตรายที่ร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว
ทำผู้ใดซึ่งพิจารณาอยู่ให้หวั่นไหวไม่ได้
ผู้นั้นชื่อว่ามีกำลัง เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[372] ผู้ใดตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
มีปัญญาลึกซึ้ง เหมือนมหาสมุทร
เห็นอรรถที่ละเอียด
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่ง่อนแง่น เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษ เพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[373] ผู้ใดเป็นพหูสูต ทรงธรรม
และมักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตเช่นกับครูนั้น
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
[374] ผู้ใดย่อมรู้ความหมายของพระปริยัติธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว
และครั้นรู้แล้วก็ทำตามที่รู้
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในอำนาจเหตุผล เป็นบัณฑิต
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย
ปัญจกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :402 }