เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 5. สัมพุลกัจจานเถรคาถา
4. อิสิทินนเถรคาถา
ภาษิตของเทวดาเตือนพระอิสิทินนเถระ
(เทวดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล เมื่อจะเตือนพระอิสิทินนเถระ จึงได้กล่าว 2
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[187] เรา(เทวดา) เห็นอุบาสกทั้งหลายผู้ทรงธรรม
กล่าวอยู่ว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง
แต่อุบาสกเหล่านั้น เป็นผู้กำหนัดอย่างแรงกล้า
ห่วงใยในแก้วมณี ต่างหู บุตรธิดาและภรรยา
[188] เพราะเหตุที่อุบาสกเหล่านั้น
ไม่รู้ธรรมในพระศาสนานี้เป็นแน่
ถึงอย่างนั้น ก็ยังกล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง
แต่พวกเขาไม่มีกำลังปัญญาที่จะตัดราคะได้
ฉะนั้น พวกเขาจึงติดบุตรธิดา ภรรยาและทรัพย์
พระอิสิทินนเถระ(ฟังคำนั้นแล้วก็เกิดความสังเวช ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต)

5. สัมพุลกัจจานเถรคาถา
ภาษิตของพระสัมพุลกัจจานเถระ
(พระสัมพุลกัจจานเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[189] ฝนตกไปเถิด ฟ้าร้องครืน ๆ ไปเถิด
และเราคนเดียวอยู่ในถ้ำที่น่ากลัว
ถึงเราคนเดียวจะอยู่ในถ้ำที่น่ากลัว
ก็ไม่มีความกลัว ความสะดุ้งหวาดเสียว หรือขนลุกขนพอง
[190] การที่เราคนเดียวอยู่ในถ้ำที่น่ากลัว
ก็ไม่มีความกลัว ความสะดุ้งหวาดเสียว
หรือขนลุกขนพอง นี้เป็นธรรมดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :364 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 7. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
6. ขิตกเถรคาถา
ภาษิตของพระขิตกเถระ
(พระขิตกเถระเมื่อจะข่มพวกภิกษุผู้อยู่ป่า จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[191] จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน
[192] จิตของเราตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
เราอบรมจิตได้แล้วอย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงเราแต่ที่ไหน

7. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณโปฏิริยปุตตเถระ
(พระผู้มีพระภาค เมื่อจะตรัสสอนพระโสณโปฏิริยบุตรเถระ จึงได้ตรัสพระ
คาถาว่า)
[193] ราตรีที่ประกอบด้วยฤกษ์มาลินี1
มิใช่เป็นราตรีที่จะหลับก่อน
ราตรีเช่นนี้เป็นราตรีที่ผู้รู้แจ้งปรารถนาแล้ว
เพื่อประกอบความเพียรโดยแท้

เชิงอรรถ :
1 ฤกษ์มาลินี หมายถึง ฤกษ์ที่มีดวงดาวขึ้นเป็นกลุ่มเหมือนพวงดอกไม้ (ดาวลูกไก่) เป็นฤกษ์ที่ควรทำความ
เพียร ไม่ใช่เวลานอน (ขุ.เถร.อ. 1/193/488)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :365 }