เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 10. ทสมวรรค 4. เมตตชิเถรคาถา
2. วิชยเถรคาถา
ภาษิตของพระวิชยเถระ
ทราบว่า ท่านพระวิชยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[92] ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่ติดในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์1 อนิมิตตวิโมกข์2 และอัปปณิหิตวิโมกข์3 ทั้ง 3
เป็นอารมณ์ ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เป็นที่รู้ได้ เหมือนนกไม่ทิ้งร่องรอย
ไว้ในอากาศ

3. เอรกเถรคาถา
ภาษิตของพระเอรกเถระ
ทราบว่า ท่านพระเอรกเถระได้กล่าวซ้ำคาถาที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนั่นแล
ดังนี้ว่า
[93] เอรกะ กามมีแต่ทุกข์ กามไม่มีสุขเลย
ผู้ที่ยินดีในกาม ชื่อว่าใฝ่ทุกข์
ผู้ที่ไม่ยินดีในกาม ชื่อว่าไม่ใฝ่ทุกข์

4. เมตตชิเถรคาถา
ภาษิตของพระเมตตชิเถระ
ทราบว่า ท่านพระเมตตชิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[94] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคศากยบุตรผู้ทรงพระสิริ
พระองค์นั้น พระองค์ผู้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณอันเลิศ
ทรงแสดงนวโลกุตตรธรรม4อันเลิศนี้ไว้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
1 สุญญตวิโมกข์ ความหลุดพ้นด้วยความว่างเพราะไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น
2 อนิมิตตวิโมกข์ ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือนิมิตในสังขารเป็นต้น
3 อัปปณิหิตวิโมกข์ ความหลุดพ้นเพราะไม่มีนิมิตที่จะถือเอาด้วยอำนาจราคะเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. 1/92/300)
4 ธรรมเหนือโลก 9 อย่าง (มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1) (ขุ.เถร.อ. 1/94/304)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :337 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 10. ทสมวรรค 7. ติสสเถรคาถา
5. จักขุปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระจักขุบาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระจักขุบาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[95] เรามีนัยน์ตาพิการ ตาบอด
เดินทางไกลทุรกันดาร
ถึงจะต้องนอนเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดิน
ก็จะไม่ร่วมทางไปกับคนชั่วช้า

6. ขัณฑสุมนเถรคาถา
ภาษิตของพระขัณฑสุมนเถระ
ทราบว่า ท่านพระขัณฑสุมนเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[96] เพราะบริจาคดอกไม้ดอกเดียวแท้ ๆ
เราจึงรับการบำเรออยู่ในแดนสวรรค์ถึง 800 ล้านปี
ด้วยเศษกุศลธรรมแห่งการบริจาคนั้น
ได้บรรลุนิพพานแล้ว

7. ติสสเถรคาถา
ภาษิตของพระติสสเถระ
ทราบว่า ท่านพระติสสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[97] เราละทิ้งจานทองคำลวดลายวิจิตร
มีค่านับร้อยปละ1มาใช้บาตรดินแทน
นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่ 2

เชิงอรรถ :
1 1 ปละ = 4 ออนซ์ (A.P. Buddhadatta mahathera PALi-Engilsh Dictionary หน้า 177)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :338 }