เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 2. จิตตลตาวรรค 2. ลขุมาวิมาน
[178] ดิฉันมีใจเลื่อมใสในพระสาวกทั้งหลายผู้ปฏิบัติตรง
จึงได้ถวายข้าวสุก ขนมสด ผักดอง
พร้อมทั้งเครื่องดื่มที่ปรุงด้วยส่วนผสมต่าง ๆ มีข้าวและเกลือเป็นต้น
[179] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีล ซึ่งประกอบด้วยองค์ 8
ทุกวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำและ 8 ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดวันปาฏิหาริยปักษ์
[180] ดิฉันผู้สำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ จึงได้ครอบครองวิมานนี้
[181] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นไกลจากการลักขโมย
การประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และการดื่มน้ำเมา
[182] ดิฉันยินดีในศีล 5 ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ
[183-184] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ฯลฯ
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพึงถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้า (แล้วกราบทูล)ตามคำของดิฉันว่า “ลขุมาอุบาสิกาถวายอภิวาทแทบ
พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
การที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ดิฉันว่าจะได้บรรลุสามัญผลขั้นใดขั้นหนึ่งนั้น
ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับที่ทรงพยากรณ์ดิฉันว่าจะได้บรรลุสกทาคามิผลเลย”
ลขุมาวิมานที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :32 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 2. จิตตลตาวรรค 3. อาจามทายิกาวิมาน
3. อาจามทายิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงกำพร้า ผู้ถวายข้าวตัง
แด่พระมหากัสสปเถระ
(ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะตรัสถามพระมหากัสสปเถระถึงสถานที่เกิดของหญิง
นั้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[185] เมื่อพระคุณเจ้ากำลังเที่ยวบิณฑบาต หยุดยืนนิ่งอยู่
หญิงกำพร้าขัดสนคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยชายคาเรือนของผู้อื่นอยู่
[186] นางเลื่อมใส ได้ถวายข้าวตังแด่พระคุณเจ้าด้วยมือทั้งสองของตน
นางละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นไหนหนอ
(พระมหากัสสปเถระถวายพระพรว่า)
[187] เมื่ออาตมภาพกำลังเที่ยวบิณฑบาต หยุดยืนนิ่งอยู่
หญิงกำพร้าขัดสนคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยชายคาเรือนของผู้อื่นอยู่
[188] นางเลื่อมใส ได้ถวายข้าวตังแก่อาตมภาพด้วยมือทั้งสองของตน
นางละร่างมนุษย์ จุติพ้นจากมนุษยโลกนี้แล้ว
[189] นางเป็นเทพธิดาชื่ออาจามทายิกา มีความสุขบันเทิงอยู่ในสวรรค์
ซึ่งเป็นที่อยู่ของทวยเทพผู้มีฤทธิ์มากชื่อนิมมานรดี
(ท้าวสักกเทวราชตรัสสรรเสริญทานนั้นว่า)
[190] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
ทานที่หญิงกำพร้าตั้งไว้ดีแล้วในพระคุณเจ้ามหากัสสปะ
ทักษิณาสำเร็จผลแล้วด้วยไทยธรรมที่ได้มาจากผู้อื่น
[191] ความเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
ซึ่งนารีผู้งามทั่วสรรพางค์กาย
สามีมองมิรู้เบื่อ ได้ครอบครองแล้วนั้น
ยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 ของการถวายข้าวตังนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :33 }