เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 5. กุณฑธานเถรคาถา
3. วนวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[13] ภูเขาหินหลากหลายมีสีดังเมฆครื้ม งามเรืองรอง
แหล่งน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง1
ช่างชวนให้เรารื่นรมย์ใจเสียจริง

4. วนวัจฉเถรสามเณรคาถา
ภาษิตของสามเณรของพระวนวัจฉเถระ
ทราบว่าสามเณรของท่านพระวนวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[14] พระอุปัชฌาย์ได้กล่าวกับเราว่า
สีวกะ เราจะไปจากที่นี่ กายเราอยู่บ้าน (แต่)ใจเราอยู่ป่า
แม้ลุกไม่ไหว เราก็จะไป ผู้รู้แจ้งหาข้องอยู่ไม่

5. กุณฑธานเถรคาถา
ภาษิตของพระกุณฑธานเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุณฑธานเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[15] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 พึงละสังโยชน์เบื้องสูง 5
พึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง2 5 ประการได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้ามโอฆะ3ได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 จำพวกแมลงทับ (ขุ.เถร.อ. 1/13/89)
2 ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ (ขุ.เถร.อ. 1/15/100)
3 กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ขุ.เถร.อ. 1/15/100)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :308 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 2. ทุติยวรรค 8. สิงคาลเถรคาถา
6. เพลัฏฐสีสเถรคาถา
ภาษิตของพระเพลัฏฐสีสเถระ
ทราบว่า ท่านพระเพลัฏฐสีสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[16] โคอาชาไนย เจริญเต็มที่เทียมไถแล้ว
ย่อมลากไถไปได้โดยไม่ลำบาก ฉันใด
เราเมื่อได้ความสุข ปราศจากอามิส1เจือปนแล้ว
วันคืนทั้งหลาย ย่อมผ่านพ้นเราไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น

7. ทาสกเถรคาถา
ภาษิตของพระทาสกเถระ
ทราบว่า ท่านพระทาสกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[17] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำบริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร (นอนกลิ้งเกลือกไปมา)

8. สิงคาลเถรคาถา
ภาษิตของพระสิงคาลเถระ
ทราบว่า ท่านพระสิงคาลเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[18] ภิกษุอยู่ในป่าเภสกฬาวัน พิจารณาแผ่นดินคืออัตภาพนี้
ด้วยเข้าใจว่า เป็นกระดูกล้วน เป็นอารมณ์
ย่อมชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
เราเข้าใจว่า ท่านรูปนั้นเห็นจะละกามราคะได้เร็วพลันแน่แท้

เชิงอรรถ :
1 ความสุขจากผลสมาบัติที่ไม่เจือด้วยอามิส 3 คือ อามิสคือกาม อามิสคือโลก อามิสคือวัฏฏะ
(ขุ.เถร.อ. 1/16/102)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :309 }