เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 7. ภัลลิยเถรคาถา
5. ทัพพเถรคาถา
ภาษิตของพระทัพพเถระ
ทราบว่า ท่านพระทัพพเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[5] พระทัพพะผู้ฝึกได้ยาก ถูกพระศาสดาผู้ฝึกทรงฝึกแล้ว
เป็นผู้สันโดษ1 ปราศจากความสงสัย ชนะกิเลสได้แล้ว
ปราศจากความขลาดกลัว มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

6. สีตวนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสีตวนิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระสีตวนิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[6] ภิกษุผู้เข้าไปสู่ป่าสีตวันแล้ว
ย่อมเป็นผู้โดดเดี่ยว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น
ชนะกิเลสได้แล้ว ปราศจากความขนพองสยองเกล้า
มีปัญญา เจริญกายคตาสติ2

7. ภัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระภัลลิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระภัลลิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[7] ผู้ที่ขจัดเสนาพญามัจจุราช3ได้ เหมือนกระแสน้ำหลาก
พัดพังทลายสะพานไม้อ้อซึ่งไม่มีกำลังต้านทาน
นับว่าเป็นผู้ชนะกิเลส ปราศจากความขลาดกลัว
ฝึกตนดีแล้ว มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ยินดีสิ่งของเท่าที่ตนมีอยู่ (ขุ.เถร.อ. 1/5/69)
2 กำหนดกายเป็นอารมณ์ (ขุ.เถร.อ. 1/6/69)
3 ความแก่ ความเจ็บ และความตาย (ขุ.เถร.อ. 1/7/72)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :305 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 1. ปฐมวรรค 10. ปุณณมาสเถรคาถา
8. วีรเถรคาถา
ภาษิตของพระวีรเถระ
ทราบว่า ท่านพระวีรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[8] พระวีรเถระผู้ฝึกได้ยาก ถูกพระศาสดาผู้ฝึกทรงฝึกแล้ว
เป็นผู้สันโดษ ปราศจากความสงสัย ชนะกิเลสได้แล้ว
ปราศจากความขนพองสยองเกล้า มีจิตคงที่ ดับสนิทแล้ว

9. ปิลินทวัจฉเถรคาถา
ภาษิตของพระปิลินทวัจฉเถระ
ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[9] การที่เราได้มายังสำนักพระผู้มีพระภาคนี้เป็นการมาดีแล้ว
ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราได้คิดไว้ว่า จะฟังธรรมในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคแล้วบวชนี้เป็นความคิดไม่เลวเลย
เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรมอันประเสริฐทั้งหลาย
เราได้บรรลุธรรมนั้นแล้ว

10. ปุณณมาสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ
ทราบว่า ท่านพระปุณณมาสเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[10] ผู้ที่บรรลุความรู้สูงสุด1 เป็นผู้สงบระงับ สำรวมตนแล้ว
ไม่ข้องติดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก2
นับว่าได้กำจัดความเพ่งเล็งคือตัณหาในโลกนี้และโลกหน้าเสียได้
ปฐมวรรค จบ

เชิงอรรถ :
1 บรรลุนิพพานด้วยมรรคญาณ (ขุ.เถร.อ. 1/10/80)
2 อุปาทานขันธ์ 5 (ขุ.เถร.อ. 1/10/81)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :306 }