เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 7. ราชปุตตเปตวัตถุ
[754] พระราชโอรสจึงได้เสวยการฟ้อนรำ ขับร้อง ความยินดี
และความสนุกสนานเป็นอันมาก
ทรงได้รับการบำรุงบำเรอในพระราชอุทยานแล้ว
จึงเสด็จเข้าไปยังภูเขาคิริพพชะ
[755] ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธะนามว่า สุเนตร
ผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ ฝึกฝนตนแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ปรารถนาน้อย
สมบูรณ์ด้วยหิริ ยินดีเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตรซึ่งได้มาด้วยภิกขาจาร
[756] จึงเสด็จลงจากคอช้างแล้วได้ตรัสถามว่า
ได้ภิกษาบ้างไหม พระคุณเจ้า
ถือตัวว่าเป็นกษัตริย์
ทรงจับบาตรของพระปัจเจกพุทธะนั้นชูขึ้น
[757] แล้วทุ่มทำลายบาตรที่พื้นดินแข็ง
ทรงพระสรวล หลีกไป(หน่อยหนึ่ง)แล้วตรัสว่า
เราเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากิตวะ
ท่านจักทำอะไรเราได้
[758] กรรมหยาบช้ามีผลเผ็ดร้อน
ซึ่งพระราชโอรสผู้แออัดอยู่ในนรกเสวยแล้ว
[759] พระราชโอรสทำบาปหยาบช้าไว้
จึงได้ประสบทุกข์แสนสาหัสอยู่ในนรก 840,000 ปี รวม 6 ครั้ง
[760] เธอเป็นคนพาล
นอนหงายบ้าง คว่ำบ้าง
นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวาบ้าง
ชี้เท้าขึ้นข้างบนบ้าง ยืนอยู่บ้าง
หมกไหม้อยู่สิ้นกาลนาน (ข้างละ 840,000 ปี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :291 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 8. คูถขาทกเปตวัตถุ
[761] เธอทำบาปหยาบช้าไว้
จึงประสบทุกข์แสนสาหัสอยู่ในนรกหลายพัน หลายหมื่นปี
[762] บุคคลผู้มีการกระทำอันเป็นบาป
พากันระรานฤๅษีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อผู้ประทุษร้าย
ผู้มีข้อปฏิบัติดีงาม จึงได้เสวยทุกข์เผ็ดร้อนอย่างยิ่งเช่นนี้
[763] เปรตผู้เป็นราชบุตรนั้นเสวยทุกข์เป็นอันมากในนรกหลายแสนปี
จุติจากนรกแล้วมาเกิดเป็นเปรตชื่อขุปปิปาสหตะ1
[764] นรชนทราบถึงโทษ
ซึ่งเกิดมีด้วยอำนาจความเมาในความเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว
พึงละความเมาในความเป็นใหญ่เสีย
แล้วประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
[765] ผู้มีปัญญา มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญในปัจจุบันนี่แหละ
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์
ราชปุตตเปตวัตถุที่ 7 จบ

8. คูถขาทกเปตวัตถุ
เรื่องเปรตกินคูถ
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า)
[766] ท่านเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถ ยืนเศร้าสร้อยอยู่
ท่านคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย
จะร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า

เชิงอรรถ :
1 เปรตผู้มีแต่ความหิวกระหายตลอดเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :292 }