เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 2. จิตตลตาวรรค 1. ทาสีวิมาน
2. จิตตลตาวรรค
หมวดว่าด้วยสวนจิตลดาของเหล่าเทวดา
1. ทาสีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงคนใช้
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[157] เธอมีหมู่เทพนารีห้อมล้อม ดุจท้าวสักกเทวราช
เที่ยวชมไปโดยรอบในสวนจิตรลดาอันน่ารื่นรมย์
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[158] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[159] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[160] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[161] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นคนใช้ ทำงานรับใช้ผู้อื่นอยู่ในสกุลหนึ่ง
[162] เป็นอุบาสิกาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงมีพระจักษุ ทรงพระยศ
ดิฉันได้มีความพากเพียรออกจากกิเลส
ในศาสนาของพระศาสดาผู้ทรงพระคุณคงที่
เพราะมีมนสิการมั่นอยู่ในใจว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :29 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 2. จิตตลตาวรรค 1. ทาสีวิมาน
[163] แม้ถึงร่างกายนี้จะแตกสลายไปก็ตามที
การที่เราจะหยุดความเพียรในการเจริญกรรมฐานนี้
จะไม่มีเป็นอันขาด
[164] ขอเชิญท่านดูผลแห่งความเพียรออกจากกิเลส
ซึ่งดิฉันผู้มีความรู้น้อย ได้บรรลุอริยมรรค
อันมีสิกขาบท 5 เป็นอุปนิสัย เป็นทางสวัสดี เป็นเหตุถึงความเกษม
ไม่มีขวากหนามคือกิเลส เป็นสภาวะที่(ตัณหาและทิฏฐิ) ยึดเหนี่ยว
ไม่ได้ เป็นทางตรงที่สัตบุรุษทั้งหลายประกาศแล้วนี้เถิด
[165] ท้าวสักกเทวราชผู้ทรงอำนาจเชิญดิฉันมา
เหล่าดุริยเทพหกหมื่นองค์ ช่วยกันปลุกเร้าดิฉัน ให้เกิดปีติโสมนัส
[166] ได้แก่ เทพบุตรมีนามว่าอาลัมพะ คัคคระ ภีมะ สาธุวาที ปสังสิยะ
โปกขระและสุผัสสะ เหล่าเทพธิดาน้อย ๆ มีนามว่า วีณา โมกขา
[167] นันทา สุนันทา โสณทินนา สุจิมหิตา
อลัมพุสา มิสสเกสีและบุณฑริกา
[168] อนึ่ง เทพกัญญาอีกพวกหนึ่ง คือ เอณีปัสสา สุผัสสา สุภัททา
และมุทุวาทินี ผู้ประเสริฐกว่านางอัปสรทั้งหลาย
ผู้มีหน้าที่ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส
[169] เทวดาเหล่านั้น พอได้เวลาก็เข้ามาหาดิฉัน
เสนอสนองด้วยวาจาน่ายินดีว่า
เอาเถอะ พวกเราจักฟ้อนรำ ขับร้อง บำเรอเธอให้รื่นรมย์
[170] สถานที่ที่ดิฉันได้รับในบัดนี้ มิใช่สถานที่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำบุญไว้
แต่เป็นสถานที่สำหรับคนที่ได้ทำบุญไว้แล้วเท่านั้น
ไม่มีความโศก น่าเพลิดเพลิน เจริญใจ
เป็นอุทยานกว้างใหญ่ของเหล่าเทพชั้นไตรทศ
[171] สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำบุญไว้ย่อมไม่มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ส่วนผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้วย่อมมีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้าแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :30 }