เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 3. นันทกเปตวัตถุ
(นันทกเปรตกราบทูลว่า)
[677] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู
ทรงผดุงรัฐให้เจริญ ขอพระองค์ทรงสดับความนั้น
อำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพราหมณ์ ปุโรหิต ก็เชิญสดับด้วย
[678] ขอเดชะ(เมื่อก่อน) ข้าพระองค์เป็นบุรุษ อยู่ในสุรัฏฐวิสัย
เป็นคนใจบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ1 ทุศีล ตระหนี่
และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
[679] เมื่อชนเหล่าอื่นกำลังทำบุญให้ทาน
ข้าพเจ้าก็ทำอันตรายเสีย ซ้ำยังห้ามหมู่ชนว่า
[680] ผลทานไม่มี ผลแห่งความสำรวมจักมีแต่ที่ไหน
ใครผู้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ไม่มี
ใครเล่าจักฝึกฝนบุคคลผู้ไม่เคยฝึกฝนได้
[681] สัตว์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน
ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจึงไม่ต้องมี
กำลังหรือความเพียรก็ไม่ต้องมี
ความพากเพียรของบุรุษจักมีแต่ที่ไหน
[682] ธรรมดาผลทานย่อมไม่มี
ใครจะทำบุคคลผู้มีเวรให้หมดจดด้วยทานไม่ได้
สัตว์ย่อมได้สุขหรือทุกข์ที่ควรได้เอง
สุขหรือทุกข์ที่เกิดจากการแปรผัน สัตว์นำมาเอง
[683] มารดาไม่มี บิดาไม่มี พี่ชายไม่มี น้องชายไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมไม่มีผล การบูชาก็ไม่มีผล
ทานและการบูชาที่ตั้งไว้ดีแล้วก็ไม่มีผล

เชิงอรรถ :
1 แสดงความเห็นผิดว่า การทำบุญ การให้ทานเป็นต้นไม่มีผล (ขุ.เป.อ. 678/269)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :279 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 3. นันทกเปตวัตถุ
[684] คนแม้ฆ่าคน (หรือ) ตัดคอคนอื่น ก็ไม่ชื่อว่าใครฆ่าใคร
เป็นแต่ศัสตรา เสียบเข้าไปในระหว่างช่องกายทั้ง 7 ช่อง1
[685] ชีวะ2ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ถูกตัด ไม่ถูกทำลาย
บางคราวมี 8 เหลี่ยม บางคราวกลมเหมือนงบน้ำอ้อย
บางคราวสูง 500 โยชน์ ใครเล่าสามารถจะตัดชีวะให้ขาดได้
[686] เหมือนเมื่อกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างไป
กลุ่มด้ายนั้นย่อมคลายกลิ้งไปได้ ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมแหวกหนีออกไปจากร่างได้
[687] เหมือนบุคคลออกจากบ้านหนึ่ง เข้าสู่บ้านหนึ่ง ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง
[688] เหมือนบุคคลออกจากเรือนหลังหนึ่ง เข้าสู่อีกเรือนหลังหนึ่ง ฉันใด
ถึงชีวะนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ออกจากร่างหนึ่ง เข้าสู่อีกร่างหนึ่ง
[689] ครั้นสิ้นกำหนด 8,400,000 มหากัป
สัตว์ทั้งหลายจะเป็นพาลหรือบัณฑิตก็ตาม
จักยังสังสารวัฏให้สิ้นไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง
[690] สุขและทุกข์ เหมือนตักตวงได้ด้วยทะนานและกระบุง
พระชินเจ้าย่อมรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมู่สัตว์นอกนี้ล้วนเป็นผู้ลุ่มหลง
[691] เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ จึงได้เป็นคนหลง
ถูกโมหะครอบงำ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุศีล ตระหนี่
และด่าว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
[692] ภายใน 6 เดือน ข้าพระองค์จักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส

เชิงอรรถ :
1 คำว่า กายทั้ง 7 ในลัทธินี้ หมายถึงสภาวะ 7 กอง ได้แก่ กองแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทุกข์และชีวะ
(ดู ลัทธิของครูปกุธะ กัจจายตนะ ใน ที.สี. 9/173)
2 คำว่า ชีวะ ในที่นี้ เทวดากล่าวหมายถึง ดวงชีพ ตรงกับอาตมันหรืออัตตาของลัทธิพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :280 }