เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[650] ข้าแต่เทวดา พวกข้าพเจ้ารู้จักช่างตัดผมคนที่ท่านพูดถึงดี
แต่ไม่รู้จักว่า เขาเป็นคนเช่นนี้เลย
แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายฟังคำของท่านแล้ว
ก็จักบูชาอุบาสกนั้นอย่างโอฬาร
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[651] พวกผู้คนในกองเกวียนนี้
ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ หรือคนปูนกลาง
ทั้งหมดทุกคนนั้น เชิญขึ้นไปบนวิมาน
พวกคนตระหนี่จงดูผลของบุญทั้งหลาย
(พระธรรมสังคีติกาจารย์กล่าว 6 คาถาในตอนจบเรื่องว่า)
[652] พ่อค้าทุกคน ณ ที่นั้น
ต่างคนต่างเข้าห้อมล้อมช่างตัดผมนั้น
พากันขึ้นวิมานซึ่งเสมือนภพดาวดึงส์ของท้าววาสวะ
พร้อมกล่าวว่า เราก่อน ๆ
[653] พ่อค้าทุกคนนั้นต่างประกาศความเป็นอุบาสก ณ ที่นั้นว่า
เราก่อน ๆ แล้วได้เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการลักทรัพย์ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา
[654] พ่อค้าทุกคน ครั้นต่างคนต่างประกาศความเป็นอุบาสก
ณ ที่นั้นแล้วได้ไปยังสถานที่ที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี
หมู่พ่อค้าเกวียนบันเทิงอยู่ด้วยเทวฤทธิ์เนือง ๆ
ได้รับอนุญาตแล้วหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :275 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 3. นันทกเปตวัตถุ
[655] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร
ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามปรารถนา
มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย
[656] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน
มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา
มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม
บูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสรีสกะขึ้น
[657] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก
พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข
เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสรีสกเปตวัตถุที่ 2 จบ
ภาณวารที่ 3 จบ

3. นันทกเปตวัตถุ1
เรื่องนันทกเปรต
(เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า)
[658] มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าปิงคลกะ
เป็นใหญ่แห่งชาวสุรัฏฐวิสัย เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าโมริยะแล้ว
กลับมาถึงทางที่จะไปยังสุรัฏฐวิสัยอีก
[659] เสด็จมาถึงทางโค้ง ในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาร้อน
ได้ทอดพระเนตรเห็นทางที่น่ารื่นรมย์
เป็นทางทรายที่เปรตเนรมิตไว้นั้น

เชิงอรรถ :
1 เรื่องนี้เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 200 ปี (ขุ.เป.อ. 123/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :276 }