เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
[621] ภายในวิมานแก้ว มีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์
ตัวท่านมีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อม
กึกก้องด้วยเสียงตะโพน เปิงมางและดุริยางค์
เป็นผู้ที่ทวยเทพนอบน้อมแล้วด้วยการชมเชยและกราบไหว้
[622] ตัวท่านนั้นมีอานุภาพสุดที่จะคิด
ประกอบด้วยคุณทุกอย่าง
ผู้อันหมู่เทพนารีปลุกเร้า
บันเทิงอยู่ในวิมานปราสาทที่ประเสริฐ น่ารื่นรมย์ใจ
เหมือนท้าวเวสวัณบันเทิงอยู่ในนฬินีสถาน1
[623] ท่านเป็นเทวดาหรือเป็นยักษ์
เป็นท้าวสักกะจอมเทพ หรือเป็นมนุษย์
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่าน
โปรดบอกด้วยเถิด ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[624] ข้าพเจ้าเป็นเทวดาชื่อเสรีสกะ เป็นผู้รักษาทางกันดาร
คุ้มครองทางทะเลทราย ทำตามคำสั่งท้าวเวสวัณ
จึงดูแลรักษาประเทศถิ่นนี้อยู่
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[625] วิมานนี้ท่านได้ตามความปรารถนา
หรือเกิดโดยความเปลี่ยนแปลง
ท่านทำเองหรือเทวดาทั้งหลายมอบให้
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า
วิมานที่น่าชอบใจนี้ท่านได้มาอย่างไร

เชิงอรรถ :
1 สถานที่ทรงเล่นกีฬาสนามกีฬา (ขุ.วิ.อ. 1246/400)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :269 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
(เทพบุตรตอบว่า)
[626] วิมานนี้มิใช่ข้าพเจ้าได้ตามความปรารถนา
มิใช่เกิดโดยการเปลี่ยนแปลง
มิใช่ข้าพเจ้าทำเองทั้งมิใช่เทวดาทั้งหลายมอบให้
วิมานที่น่าชอบใจนี้ข้าพเจ้าได้มาด้วยบุญกรรมอันดีงามของตน
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[627] อะไรเป็นข้อปฏิบัติและเป็นพรหมจรรย์ของท่าน
นี้เป็นวิบากแห่งบุญกรรมอะไรที่ท่านสั่งสมไว้ดีแล้ว
พวกพ่อค้าเกวียนถามท่านว่า
วิมานนี้ท่านได้มาอย่างไร
(เทพบุตรตอบว่า)
[628] ข้าพเจ้าได้มีนามว่าปายาสิ
เมื่อครั้งข้าพเจ้าครองราชสมบัติแคว้นโกศล
ข้าพเจ้าเป็นนัตถิกทิฏฐิ1
เป็นคนตระหนี่ มีธรรมเลวทราม
และมีปกติกล่าวว่าขาดสูญ2
[629] ได้มีสมณะ ผู้พหูสูต นามว่ากุมารกัสสปะ
ซึ่งเลิศทางกล่าวธรรมได้อย่างวิจิตรไพเราะ
ครั้งนั้นท่านได้กล่าวธรรมกถาโปรดข้าพเจ้า
ได้ช่วยบรรเทาทิฏฐิที่เป็นข้าศึกทางใจของข้าพเจ้าได้

เชิงอรรถ :
1 มีความเห็นผิดว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเอง
(สุตฺต. 9/168/54)
2 การกล่าวว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบูชายัญไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี
ทำชั่วไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ ฯลฯ (สุตฺต. 9/171/56)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :270 }