เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
[605] ยังมีพระราชาผู้ทรงยศพระนามว่า ปายาสิ
ได้เกิดร่วมกับหมู่ภุมเทวดา
มีบริวารยศบันเทิงอยู่ในวิมานของตน
เป็นเทวดาแต่ได้มาสนทนากับพวกมนุษย์
(เสรีสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า)
[606] มนุษย์ทั้งหลายผู้กลัวทางคดเคี้ยว
มีใจหวาดหวั่นอยู่ในที่น่าระแวงว่ามีภัย ในป่า ในถิ่นของอมนุษย์
ในทางกันดาร ซึ่งมีน้ำมีอาหารไม่เพียงพอ
เดินไปได้แสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย
[607] ในทางทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน ไม่มีเชื้อไฟ
ในทางทะเลทรายนี้ จักหาอาหารได้แต่ที่ไหน
นอกจากฝุ่นและทรายที่แดดแผดเผาทั้งร้อน ทั้งทารุณ
[608] ที่นี้เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ
หาความสบายมิได้ เทียบเท่านรก
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้ามีปีศาจเป็นต้น
เป็นภูมิประเทศเหมือนถูกสาปไว้
[609] อนึ่ง พวกท่านหวังอะไร
เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน
เพราะความโลภ ความกลัว หรือเพราะความหลง
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[610] พวกข้าพเจ้านั้นเป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ
ต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงบรรทุกสินค้ามามาก
พากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :266 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
[611] กลางวัน พวกข้าพเจ้าทุกคนทนความกระหายน้ำไม่ได้
ทั้งมุ่งหวังจะอนุเคราะห์สัตว์พาหนะ
จึงรีบเดินทางมาในกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาวิกาล
[612] พวกข้าพเจ้าไปผิดทาง จึงหลงทาง
สับสนเหมือนคนตาบอด
เดินหลงเข้าไปในป่าที่ไปได้ยากแสนยาก
ท่ามกลางทะเลทราย เกิดงุนงงสงสัย ไม่รู้ทิศทาง
[613] ท่านที่ควรบูชา พวกข้าพเจ้าได้พบวิมานอันประเสริฐ
และตัวท่านซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนนี้
จึงหวังจะรอดชีวิตยิ่งกว่าแต่ก่อน
เพราะได้เห็น จึงพากันร่าเริง ดีใจและเบิกบานใจ
(เทพบุตรถามว่า)
[614] เพราะโภคทรัพย์เป็นต้นเหตุ
พวกท่านจึงพากันไปยังทิศทางต่าง ๆ
คือ ฝั่งสมุทรทะเลทรายทางที่ต้องใช้เครื่องหวาย
ทางที่ต้องตอกทอย1 ทางที่มีแม่น้ำ
และทางภูเขาที่ไปได้ยาก
[615] พ่อค้าทั้งหลาย พวกท่านได้ไปยังแคว้นของพระราชาอื่น ๆ
พบเห็นผู้คนชาวต่างประเทศ
พวกเราขอฟังสิ่งอัศจรรย์
ที่พวกท่านได้ยิน หรือได้เห็นมา

เชิงอรรถ :
1 ตอกทอย หมายถึง การตีลูกทอยคือไม้แหลม ๆ ที่ทำเป็นตะปูตีเข้าที่ต้นไม้ (หรือที่หน้าผาเพื่อทำเป็น
บันไดไต่ขึ้นไป) (ขุ.วิ.อ. 1238/397)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :267 }