เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[570] (เจ้าลิจฉวีนั้น)ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้น
ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง มีรูปงาม ประดับประดา
นุ่งผ้าอย่างดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวารห้อมล้อม มีเทวฤทธิ์มาก
[571] พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัย เบิกบาน
มีพระหฤทัยร่าเริง งามสง่า
ได้ทรงเห็นกรรมและผลกรรมมากอย่างแจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เอง
[572] จึงเสด็จเข้าไปหาเปรตนั้นแล้วรับสั่งกับเปรตนั้นว่า
เราจักให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
สิ่งไร ๆ ที่เราไม่ควรให้ไม่มีเลย
และท่านมีอุปการะแก่เรามาก
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[573] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี พระองค์ได้พระราชทานสิ่งของอย่างหนึ่ง
แก่ข้าพระองค์ ทานนั่นมิได้ไร้ผล
ข้าพระองค์นั้นซึ่งเป็นอมนุษย์
จักเป็นพยานร่วมกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์
(พระราชาตรัสว่า)
[574] ท่านเป็นตัวอย่าง เป็นพวกพ้อง เป็นที่ยึดเหนี่ยว
เป็นมิตรและเป็นเทพของเรา
เราขอไหว้ อ้อนวอนท่าน ต้องการจะพบท่านอีก
(เปรตกราบทูลว่า)
[575] ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ยังกระด้างกระเดื่อง มีจิตดำเนินไปผิด1
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์
และข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้วก็จักไม่เจรจาด้วย

เชิงอรรถ :
1 มีจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ ละทางถูกไปปฏิบัติทางผิด (ขุ.เป.อ. 575/258)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :260 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[576] แต่ถ้าพระองค์จักทรงเคารพธรรม
ยินดีบริจาคทานเครื่องบำรุงอัตภาพ
เป็นเสมือนบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์จักได้เห็นข้าพระองค์
[577] และข้าพระองค์จักได้เห็นได้เจรจากับพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาวโดยเร็ว
เพราะการมาหาบุรุษนี้เป็นเหตุ
เราทั้งสองได้เป็นพยานร่วมกัน
เพราะเหตุแห่งบุรุษถูกเสียบที่หลาว ข้าพระองค์เข้าใจว่า
[578] เราทั้งสองนั้นได้เป็นพยานร่วมกัน
ฝ่ายบุรุษถูกเสียบที่หลาวนี้ ถูกปล่อยโดยเร็วโดยทันที
แล้วประพฤติธรรมโดยเคารพ
พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน
กรรมที่เว้นการให้ผล1 ก็พึงมีได้
[579] พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุแล้ว
ทรงถวายทานแก่ท่าน ในเวลาที่สมควร
ประทับนั่งใกล้แล้วเชิญตรัสถามด้วยพระโอษฐ์เอง
ท่านจักทูลความข้อนั้นแก่พระองค์
[580] พระองค์ทรงประสงค์บุญ และมีจิตไม่ประทุษร้าย
เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้วตรัสถามเถิด
ท่านจักทูลธรรมทั้งที่ทรงสดับแล้ว
และยังไม่ได้ทรงสดับทั้งหมดแด่พระองค์ตามความรู้
(พระองค์ทรงสดับธรรมแล้วจักได้ตรัสบอกสุคติ)

เชิงอรรถ :
1 กรรมที่เว้นผลอันบุคคลพึงเสวยในภพต่อ ๆ ไป (อโหสิกรรม) พึงมีได้ เมื่อยังมีการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.เป.อ.
590/259)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :261 }