เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[545] บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวกรรม
อันเป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ไว้ทั้งสองอย่าง
เทวดาเหล่านั้นห้อมล้อมเหล่าชนที่ได้รับผลอันเป็นเหตุให้เสวยสุข
ส่วนพวกคนพาลมักไม่เห็นกรรมและผลกรรมทั้งสอง
จึงถูกกรรมแผดเผาอยู่
[546] ข้าพระองค์มิได้มีบุญกรรมที่ทำไว้ด้วยตนเอง
ทั้งไม่มีผู้ที่จะพึงถวายผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ข้าวและน้ำ แล้วอุทิศให้
เหตุนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[547] ท่านยักษ์ จะพึงมีเหตุอะไร ๆ บ้างหนอ
ที่จะทำให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่ม
เชิญบอกเราได้ ถ้ามีเหตุ
เรารับฟังคำที่มีเหตุควรเชื่อถือได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[548] เมืองไพสาลีนี้ มีภิกษุนามว่ากัปปิตกะ1
สำเร็จฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นแล้ว
คุ้มครองอินทรีย์ได้ สำรวมในพระปาติโมกข์
เยือกเย็น มีสัมมาทิฏฐิอันสูงสุด
[549] เป็นผู้อ่อนโยน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย
มีหน้าเบิกบาน มาดี ไปดี พูดโต้ตอบได้ดี
เป็นเนื้อนาบุญ มีเมตตาจิตเป็นประจำ
และเป็นทักขิไณยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนอดีตชฎิล 1,000 รูป ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของท่านพระอุบาลีเถระ (ขุ.เป.อ.
548/245)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :255 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[550] สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้
หมดทุกข์ หมดตัณหา
หลุดพ้นแล้ว ปราศจากกิเลสเป็นเหตุเสียบแทง
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่คด ไม่มีอุปธิ
หมดสิ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า
ได้บรรลุวิชชา 3 มีความรุ่งเรือง
[551] ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ แม้ใคร ๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นปราชญ์
ในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่า ปราชญ์
ส่วนพวกยักษ์และเทวดารู้จักท่านว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
มีกัลยาณธรรม เที่ยวไปในโลก
[552] ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่พระมุนีนั้น
ทรงอุทิศส่วนบุญให้ข้าพระองค์
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และพระองค์ก็จะทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[553] บัดนี้ สมณะนั้นอยู่ที่ไหน
เราไปแล้วจักพึงพบเห็นได้
และสมณะนั้น คือใคร จะพึงแก้ไขความสงสัยและความสนเท่ห์
ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นในวันนี้ได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[554] ท่านนั่งอยู่ที่กปินัจจนานั่น
มีเทวดาแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
เป็นผู้มีเกียรติคุณอันแท้จริง
และเป็นผู้ไม่ประมาทในคุณอันอัศจรรย์ของตน
กล่าวธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :256 }