เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[533] ข้าพระองค์และบุคคลอื่น
เหยียบบนหัวโคนั้นเดินข้ามไปได้
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมนั้น
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[534] ท่านมีรัศมีกายสว่างไสวทั่วทุกทิศ
และมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
เข้าถึงเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
แต่ยังเปลือยกายอยู่ นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[535] เมื่อก่อน ข้าพระองค์ไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสเป็นนิตย์
พูดกับคนทั่วไปด้วยวาจาอ่อนหวาน ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีรัศมีกายเป็นทิพย์ สว่างไสวอยู่เนืองนิตย์
[536] ข้าพระองค์เห็นยศและชื่อเสียงของผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม
มีจิตเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญ ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีกลิ่นทิพย์ฟุ้งไปเนือง ๆ
[537] เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ
ข้าพระองค์ลักเอาผ้าที่เขาซ่อนไว้บนบก
มีความประสงค์จะล้อเล่น แต่ไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้าย
เพราะกรรมนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
และเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[538] ผู้ที่ทำบาปเล่น ๆ (โดยเห็นแก่ความสนุก)
นักปราชญ์ยังกล่าวว่ามีผลกรรมถึงเพียงนี้
แล้วผู้ที่จงใจทำบาปเล่า
นักปราชญ์ได้กล่าวว่าจะมีผลกรรมสักเพียงไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :253 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[539] มนุษย์ทั้งหลายมีใจดำริชั่วร้าย
เป็นผู้เศร้าหมองทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา
ตายไปจะต้องตกนรกในสัมปรายภพ อย่างไม่ต้องสงสัย
[540] ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ
ยินดีให้ทาน เลี้ยงอัตภาพแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพอย่างไม่ต้องสงสัย
(เมื่อเปรตชี้แจงจำแนกผลกรรมแต่โดยย่ออย่างนี้ พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัส
ถามว่า)
[541] เราจะพึงรู้เรื่องนั้นโดยไม่ต้องอาศัยบุคคลอื่นอย่างไรว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เราเห็นอะไรแล้วจึงควรเชื่อ
หรือใครบ้างจะพึงช่วยชี้แจงให้เราเชื่อเรื่องนั้นได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[542] พระองค์ทรงเห็นและทรงสดับมาแล้วก็จงทรงเชื่อเถิดว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เมื่อกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองไม่มี
สัตว์ทั้งหลายที่ไปสู่สุคติหรือทุคติจะพึงมีได้อย่างไรเล่า
[543] ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ไม่พึงทำกรรมดีและกรรมชั่ว
เหล่าสัตว์ในมนุษยโลกที่จะไปสุคติหรือทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง
ก็มีไม่ได้
[544] แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลก
ได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้
ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกจึงไปสุคติหรือทุคติ
เลวบ้าง ประณีตบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :254 }