เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
4. มหาวรรค
หมวดใหญ่
1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
เรื่องเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีกับเปรตเปลือย
[517] ชาวเมืองวัชชีมีนครนามว่าไพสาลี
ในนครไพสาลีนั้น มีกษัตริย์ลิจฉวี พระนามว่าอัมพสักขระ1
ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตที่ภายนอกพระนคร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ
จึงได้ตรัสถามเปรตนั้นในที่นั้นนั่นเองว่า
[518] บุคคลที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวนี้
ไม่มีการนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา
และการลิ้ม การดื่ม การเคี้ยวกิน การนุ่งห่มผ้า
แม้หญิงบำเรอของเขาก็ไม่มี
[519] ชนเหล่าใดเป็นญาติ เป็นมิตรสหายซึ่งเคยเห็นหรือเคยได้ยินกันมา
เคยเอ็นดูกันมาในกาลก่อนของผู้นี้
เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนเขาก็ไม่ได้
เพราะว่าผู้นี้มีสภาพที่ชนนั้นสละแล้ว
[520] ผู้ที่ตายแล้วย่อมไม่มีมิตรสหาย
พวกมิตรสหายทราบถึงความขาดแคลนจึงพากันละทิ้ง
และเห็นประโยชน์จึงพากันห้อมล้อม
ส่วนผู้ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติย่อมมีมิตรสหายมากมาย
[521] ชีวิตของบุรุษที่เสื่อมจากเครื่องอุปโภคและบริโภคทุกอย่างฝืดเคือง
ถูกหลาวเสียบตัว มีร่างกายเปื้อนเลือด
จักดับในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้เป็นแน่
ดุจหยาดน้ำค้างซึ่งติดอยู่บนปลายหญ้า

เชิงอรรถ :
1 เจ้าลิจฉวีองค์นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถือลัทธินัตถิกวาทว่า ‘ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ทำดีทำชั่วไม่มีผล’ (ขุ.เป.อ.
121/229)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :250 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[522] ยักษ์ เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงพูดกับบุรุษผู้ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
นอนหงายอยู่บนหลาวด้ามไม้สะเดาเช่นนี้ว่า
บุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด
การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นความประเสริฐ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[523] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ระลึกได้ว่า ในชาติก่อน
บุรุษนี้เป็นญาติสายโลหิตของข้าพระองค์
ก็ข้าพระองค์เห็นแล้ว มีความกรุณาต่อเขาว่า
ขอบุรุษผู้เลวทรามนี้อย่าตกนรกเลย
[524] ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ตายจากอัตภาพนี้แล้ว
จักบังเกิดในนรกซึ่งแน่นขนัดไปด้วยสัตว์ผู้กระทำความชั่วไว้
เป็นนรกร้ายกาจ
มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อน น่ากลัว
[525] หลาวนี้แหละยังดีกว่านรกนั้นมากมายหลายส่วน
ขอบุรุษนี้อย่าตกนรก ซึ่งมีแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว
เผ็ดร้อนอย่างน่ากลัว รุนแรงยิ่ง
[526] เพราะฟังคำของข้าพระองค์นี้แล้ว บุรุษนี้เป็นประหนึ่งว่า
น้อมจิตเข้าไปหาทุกข์ในนรก พึงละบาปเสียได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า
ชีวิตของบุรุษนี้จงอย่าดับไปเพราะข้าพระองค์แต่ผู้เดียว
(เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อ
จะตรัสถามความเป็นไปของเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า)
[527] เรื่องของบุรุษนี้ เรารู้แล้ว
แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่นบ้าง
ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา
เราจะถาม และท่านไม่ควรโกรธเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :251 }