เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 16. สิริมาวิมาน
[141] เทพธิดา อนึ่ง เธอมีมวลเทพห้อมล้อม สักการะ
เธอจุติมาจากคติ1ไหนจึงมาถึงสุคติภพนี้
หรือว่าเธอได้ทำตามคำสอนของพระศาสดาพระองค์ไหน
หากเธอเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้าจริง ขอจงบอกอาตมาเถิด
(สิริมาเทพธิดาตอบว่า)
[142] ดิฉันเป็นพระสนมของพระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ2
มีพระสิริ อยู่ในพระนครซึ่งสถาปนาไว้เป็นอย่างดีท่ามกลางขุนเขา
มีความชำนาญอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ ขับร้อง
ชาวเมืองราชคฤห์ได้พากันเรียกขานดิฉันว่า สิริมา
[143] พระพุทธเจ้าทรงองอาจกว่าหมู่ผู้เป็นฤษี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์
ได้ทรงแสดงทุกขสัจและสมุทัยสัจว่าเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง
ทรงแสดงทุกขนิโรธสัจซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่งว่าเป็นสภาวะคงที่
และทรงแสดงมรรคสัจนี้ซึ่งเป็นทางไม่อ้อมค้อม
เป็นทางตรง และเป็นทางปลอดโปร่งแก่ดิฉัน
[144] ดิฉันครั้นฟังธรรมอันเป็นทางไม่ตาย ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
เป็นคำสอนของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
สำรวมในศีลทั้งหลายอย่างเคร่งครัดเป็นอันดี
มั่นอยู่ในธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่านรชนทรงแสดงไว้แล้ว
[145] ครั้นรู้ทางที่ปราศจากกิเลสประดุจธุลีซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
อันพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ทรงแสดงไว้แล้ว
ได้สัมผัสสมถสมาธิ3 ในอัตภาพนั้นเอง
การได้สัมผัสสมถสมาธินั้นแหละ
เป็นภาวะแน่นอนอย่างยิ่งสำหรับดิฉัน

เชิงอรรถ :
1 คติ (ภพที่สัตว์ไปเกิด) 5 คือ นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ และสวรรค์
2 พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองกรุงราชคฤห์ (ขุ.วิ.อ. 142/90)
3 สมถสมาธิ คือ โลกุตตรสมาธิที่ตัดกิเลสได้เด็ดขาด (ขุ.วิ.อ. 145/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :25 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 16. สิริมาวิมาน
[146] ดิฉันได้อมตธรรมอันประเสริฐ ที่ทำให้ต่างจากปุถุชน
มีความเชื่อมั่น1 บรรลุคุณวิเศษเพราะรู้แจ้ง2แล้ว
หมดความลังเลสงสัย ได้รับการบูชาจากคนจำนวนมาก
ความยินดีไม่น้อย
[147] ตามที่กราบเรียนมานี้ ดิฉันจึงเป็นเทพธิดาผู้เห็นอมตธรรม
เป็นสาวิกาของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
ได้เห็นธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคล
ทุคติเป็นอันไม่มีแก่ดิฉันอีกแล้ว
[148] ดิฉันนั้นมาหมายจะถวายอภิวาท
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
หมายจะนมัสการบรรดาภิกษุผู้น่าเลื่อมใส ซึ่งยินดีในกุศลธรรม3
และหมายจะเข้าไปนั่งใกล้สมาคมของสมณะที่ปลอดภัย
ดิฉันมีความเคารพพระธรรมราชา
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ
[149] ครั้นได้เห็นพระจอมมุนีแล้ว
ดิฉันก็มีใจเบิกบาน เอิบอิ่ม
จึงขอถวายอภิวาทพระองค์ผู้เป็นพระตถาคตเลิศกว่านรชน
ฝึกคนที่ควรฝึก ทรงตัดตัณหาได้ ทรงยินดีในกุศลธรรม
ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นจากทุกข์ได้
ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกด้วยความเกื้อกูลอย่างยิ่ง
สิริมาวิมานที่ 16 จบ

เชิงอรรถ :
1 เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย (ขุ.วิ.อ. 146/92)
2 รู้แจ้งอริยสัจ (ขุ.วิ.อ. 146/92)
3 นิพพาน (ขุ.วิ.อ. 148/93)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :26 }