เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [3. จูฬวรรค] รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรค
[513] เมื่อการบูชาและการฉลองพระสถูป
ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปอยู่
ชนเหล่าใดประกาศโทษ (แห่งการบูชาพระสถูปเหมือนเรา)
ท่านพึงคัดชนเหล่านั้นออกจากบุญนั้น
[514] อนึ่ง เชิญท่านดูเทพธิดาเหล่านี้
ซึ่งทัดทรงดอกไม้ ตกแต่งร่างกายเหาะมา
พวกนางมั่งคั่งและมีบริวารยศ
เสวยผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[515] ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายได้เห็นผลน่าอัศจรรย์
น่าขนลุกขนชัน ซึ่งไม่เคยมีมาแล้วนั้น
ย่อมทำการนอบน้อม
กราบไหว้พระมหามุนีนั้น
[516] ข้าพเจ้าจากเปตโลกนี้ไปแล้ว
ได้ถือกำเนิดเป็นมนุษย์
จักเป็นผู้ไม่ประมาท
ทำการบูชาพระสถูปบ่อย ๆ แน่แท้
ธาตุวิวัณณเปตวัตถุที่ 10 จบ
จูฬวรรคที่ 3 จบ

รวมเรื่องเปรตที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อภิชชมานเปตวัตถุ 2. สานุวาสีเถรเปตวัตถุ
3. รถการเปติวัตถุ 4. ภุสเปตวัตถุ
5. กุมารเปตวัตถุ 6. เสริณีเปติวัตถุ
7. มิคลุททกเปตวัตถุ 8. ทุติยมิคลุททกเปตวัตถุ
9. กูฏวินิจฉยิกเปตวัตถุ 10. ธาตุวิวัณณเปตวัตถุ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :249 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
4. มหาวรรค
หมวดใหญ่
1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
เรื่องเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีกับเปรตเปลือย
[517] ชาวเมืองวัชชีมีนครนามว่าไพสาลี
ในนครไพสาลีนั้น มีกษัตริย์ลิจฉวี พระนามว่าอัมพสักขระ1
ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตที่ภายนอกพระนคร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ
จึงได้ตรัสถามเปรตนั้นในที่นั้นนั่นเองว่า
[518] บุคคลที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวนี้
ไม่มีการนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา
และการลิ้ม การดื่ม การเคี้ยวกิน การนุ่งห่มผ้า
แม้หญิงบำเรอของเขาก็ไม่มี
[519] ชนเหล่าใดเป็นญาติ เป็นมิตรสหายซึ่งเคยเห็นหรือเคยได้ยินกันมา
เคยเอ็นดูกันมาในกาลก่อนของผู้นี้
เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนเขาก็ไม่ได้
เพราะว่าผู้นี้มีสภาพที่ชนนั้นสละแล้ว
[520] ผู้ที่ตายแล้วย่อมไม่มีมิตรสหาย
พวกมิตรสหายทราบถึงความขาดแคลนจึงพากันละทิ้ง
และเห็นประโยชน์จึงพากันห้อมล้อม
ส่วนผู้ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติย่อมมีมิตรสหายมากมาย
[521] ชีวิตของบุรุษที่เสื่อมจากเครื่องอุปโภคและบริโภคทุกอย่างฝืดเคือง
ถูกหลาวเสียบตัว มีร่างกายเปื้อนเลือด
จักดับในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้เป็นแน่
ดุจหยาดน้ำค้างซึ่งติดอยู่บนปลายหญ้า

เชิงอรรถ :
1 เจ้าลิจฉวีองค์นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถือลัทธินัตถิกวาทว่า ‘ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ทำดีทำชั่วไม่มีผล’ (ขุ.เป.อ.
121/229)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :250 }