เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 12. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[351] ขวักไขว่ไปด้วยฝูงทิชาชาติ1นานาชนิด
มีเสียงร้องของนกนานาชนิด ไพเราะจับใจ
มีไม้ผล ไม้ดอกนานาพันธุ์
[352] ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้
ปราสาทของท่านมีมาก สำเร็จแล้วด้วยทองคำและเงิน
ส่องแสงสว่างโชติช่วงโดยรอบทั้ง 4 ทิศ
[353] ทาสี 500 คน ประดับด้วยกำไลทองคำ
นุ่งห่มผ้าทองคำ คอยบำเรอท่าน
[354] ท่านมีบัลลังก์ทองคำและเงินจำนวนมาก
ปูลาดด้วยหนังชะมดและผ้าโกเชาว์2 ที่เขาจัดเตรียมไว้แล้ว
[355] ท่านจะเข้าบรรทมบนบัลลังก์ใดก็สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง
เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่านลุกจากบัลลังก์นั้นไป
[356] ลงไปสู่สวนรอบสระโบกขรณี
ยืนอยู่ที่ริมสระนั้นซึ่งมีหญ้าเขียวอ่อนนุ่ม
[357] ทันใดนั้น สุนัขชื่อกัณณมุณฑกะก็ขึ้นมาจากสระนั้น
กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
เมื่อใดท่านถูกสุนัขกัดกินเหลือแต่ร่างกระดูก
เมื่อนั้น ท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี
ร่างกายก็กลับเป็นเหมือนเดิม
[358] ภายหลังจากเวลาที่ลงสระโบกขรณี
ท่านกลับมีอวัยวะน้อยใหญ่บริบูรณ์ งดงาม ดูน่ารัก
นุ่งห่มผ้า มาสู่สำนักเรา

เชิงอรรถ :
1 นก ได้ชื่อว่า ทิชาชาติ เพราะเกิด 2 หน คือ คลอดจากท้องมารดาเป็นฟองไข่หนหนึ่ง และถูกฟักจน
คลอดเป็นตัวอีกหนหนึ่ง
2 พรมที่ทำด้วยขนแกะที่มีขนยาว (ขุ.เป.อ. 354/167)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :223 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 12. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[359] เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ
เพราะผลกรรมอะไร
สุนัขกัณณมุณฑกะจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
(นางเวมานิกเปรตกราบทูลว่า)
[360] มีคหบดีคนหนึ่ง เป็นอุบาสก มีศรัทธา อยู่ในเมืองกิมพิลา
หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา เป็นคนทุศีล ประพฤตินอกใจเขา
[361] เมื่อหม่อมฉันประพฤตินอกใจเขา
สามีจึงพูดดังนี้ว่า การที่เธอประพฤตินอกใจฉันแล้วปกปิดไว้
เป็นการไม่เหมาะ ไม่สมควร
[362] และหม่อมฉันนั้นได้กล่าวเท็จสาบานอย่างร้ายแรงว่า
ฉันไม่ได้ประพฤตินอกใจท่านทางกายหรือทางใจ
[363] ถ้าฉันประพฤตินอกใจท่านทางกายหรือทางใจ
ขอให้สุนัขกัณณมุณฑกะตัวนี้จงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของฉันเถิด
[364] ผลกรรมชั่วและการกล่าวเท็จทั้งสองนั้น
หม่อมฉันได้เสวยแล้วเป็นเวลา 700 ปี
เพราะกรรมอันชั่วช้าสุนัขกัณณมุณฑกะ
จึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของหม่อมฉัน
[365] ขอเดชะพระองค์ผู้ประเสริฐ
พระองค์ทรงมีอุปการะแก่หม่อมฉันมาก
เสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันพ้นแล้วจากสุนัขกัณณมุณฑกะ
หายโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
[366] ขอเดชะ หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์
ขอประนมอัญชลีวิงวอนว่า ขอพระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์
รื่นรมย์อยู่กับหม่อมฉันเถิดเพคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :224 }