เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 12. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[346] เวมานิกเปรตนั้นจับแขนหญิงนั้น
นำกลับไปส่งยังบ้านที่นางเกิดและเจริญวัย
แล้วพูดกับหญิงนั้นซึ่งกลายเป็นหญิงแก่มีกำลังน้อยที่สุดว่า
เธอจงบอกชนแม้อื่นในที่นี้ว่า
ท่านทั้งหลายจงทำบุญจะได้รับความสุข
[347] มนุษย์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อนเหมือนเปรตทั้งหลายที่เราเห็นแล้ว
เดือดร้อนอยู่เพราะไม่ได้ทำกรรมดีไว้
ก็หมู่สัตว์คือเทวดาและมนุษย์ทำกรรมมีสุขเป็นวิบากแล้ว
เป็นผู้ดำรงอยู่ในความสุข
สุตตเปตวัตถุที่ 11 จบ

12. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
เรื่องนางเปรตผู้ถูกสุนัขกัณณมุณฑกัดกินเนื้อ
(พระเจ้าพาราณสีตรัสถามนางเวมานิกเปรตว่า)
[348] สระโบกขรณีมีน้ำใสเย็น มีบันไดทองคำ
มีพื้นดาดด้วยทรายทองคำ
ในสระโบกขรณีนั้นมีต้นไม้สวยงาม มีกลิ่นหอมยวนใจ
[349] ดาดดื่นไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ
ดารดาษไปด้วยบัวนานาชนิด รายล้อมไปด้วยบัวขาว
[350] มีกลิ่นหอมเจริญใจ
ยามต้องลมรำเพยพัดก็โชยกลิ่นหอมระรื่นฟุ้งขจรไป
ระงมไปด้วยเสียงหงส์และนกกะเรียน
นกจักรพาก1มาส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ

เชิงอรรถ :
1 นกชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :222 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 12. กัณณมุณฑเปติวัตถุ
[351] ขวักไขว่ไปด้วยฝูงทิชาชาติ1นานาชนิด
มีเสียงร้องของนกนานาชนิด ไพเราะจับใจ
มีไม้ผล ไม้ดอกนานาพันธุ์
[352] ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้
ปราสาทของท่านมีมาก สำเร็จแล้วด้วยทองคำและเงิน
ส่องแสงสว่างโชติช่วงโดยรอบทั้ง 4 ทิศ
[353] ทาสี 500 คน ประดับด้วยกำไลทองคำ
นุ่งห่มผ้าทองคำ คอยบำเรอท่าน
[354] ท่านมีบัลลังก์ทองคำและเงินจำนวนมาก
ปูลาดด้วยหนังชะมดและผ้าโกเชาว์2 ที่เขาจัดเตรียมไว้แล้ว
[355] ท่านจะเข้าบรรทมบนบัลลังก์ใดก็สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง
เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่านลุกจากบัลลังก์นั้นไป
[356] ลงไปสู่สวนรอบสระโบกขรณี
ยืนอยู่ที่ริมสระนั้นซึ่งมีหญ้าเขียวอ่อนนุ่ม
[357] ทันใดนั้น สุนัขชื่อกัณณมุณฑกะก็ขึ้นมาจากสระนั้น
กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน
เมื่อใดท่านถูกสุนัขกัดกินเหลือแต่ร่างกระดูก
เมื่อนั้น ท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี
ร่างกายก็กลับเป็นเหมือนเดิม
[358] ภายหลังจากเวลาที่ลงสระโบกขรณี
ท่านกลับมีอวัยวะน้อยใหญ่บริบูรณ์ งดงาม ดูน่ารัก
นุ่งห่มผ้า มาสู่สำนักเรา

เชิงอรรถ :
1 นก ได้ชื่อว่า ทิชาชาติ เพราะเกิด 2 หน คือ คลอดจากท้องมารดาเป็นฟองไข่หนหนึ่ง และถูกฟักจน
คลอดเป็นตัวอีกหนหนึ่ง
2 พรมที่ทำด้วยขนแกะที่มีขนยาว (ขุ.เป.อ. 354/167)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :223 }