เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 9. อังกุรเปตวัตถุ
[301] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร
เพราะเหตุนั้นแหละ ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
ประเพณีแห่งการให้ทานและการไม่ให้
เป็นธรรมเนียมของบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ พึงเป็นไปโดยพอเหมาะ
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[302] ชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแน่แท้
ด้วยว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบระงับพึงคบหาเรา
เราพึงทำความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ
เปรียบเหมือนฝนตกทำที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม
[303] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน
[304] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ(บุญ)
[305] ก่อนแต่ให้ก็มีใจดี
เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวเป็นคาถาว่า)
[306] ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ
เขาให้โภชนะแก่หมู่ชนวันละ 60,000 เล่มเกวียนเป็นนิตย์
[307] พ่อครัว 3,000 คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี
เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน
พากันเข้าไปอาศัยอังกุรพาณิชเลี้ยงชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :216 }