เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 6. กัณหเปตวัตถุ
[210] ฉันจักให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี
กระต่ายโลหะ กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์
กระต่ายศิลา กระต่ายแก้วประพาฬ ให้เธอ
[211] แม้กระต่ายอื่น ๆ ที่เที่ยวหากินอยู่ในป่ายังมีอยู่
ฉันจักให้นำกระต่ายแม้เหล่านั้นมาให้เธอ
เธอต้องการกระต่ายเช่นไร
(ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า)
[212] ข้าพระองค์ไม่ต้องการกระต่ายที่อยู่บนแผ่นดิน
ข้าพระองค์ต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
พระเกสวะ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา
โปรดนำกระต่ายนั้นลงมาประทานแก่หม่อมฉันเถิด
(พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า)
[213] แน่ะพระญาติ เธอจักละชีวิตที่ประเสริฐยิ่งเสียแน่
เพราะเธอต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา
(ฆฏบัณฑิตกราบทูลว่า)
[214] พระองค์ผู้กัณหโคตร หากพระองค์ทรงทราบ
ตามที่พระองค์ทรงพร่ำสอนบุคคลอื่น
เหตุไฉน พระองค์จึงทรงกรรแสงถึงพระราชโอรส
ที่ทิวงคตไปตั้งนาน จนถึงวันนี้เล่า
[215] มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า
ขอบุตรของเราผู้เกิดมาแล้วอย่าตายเลย
พระองค์จะทรงได้พระราชโอรสที่ทิวงคตแล้ว
ซึ่งไม่ควรได้แต่ที่ไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :202 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 6. กัณหเปตวัตถุ
[216] พระองค์ผู้กัณหโคตร พระองค์ไม่อาจจะนำพระราชโอรส
ผู้ทิวงคตแล้ว ที่พระองค์ทรงกรรแสงถึงมาได้ด้วยมนต์
ด้วยยาสมุนไพรหรือทรัพย์ได้
[217] แม้ชนทั้งหลายที่มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก
ถึงจะเป็นกษัตริย์ผู้ครองแคว้น
มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย จะไม่แก่ตายก็ไม่มี
[218] แม้เหล่าชนที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
จัณฑาล ปุกกุสะ และชนประเภทอื่น ๆ
ผู้มีความเกิดของตนเป็นเหตุ จะไม่แก่ไม่ตายก็ไม่มี
[219] แม้เหล่าชนผู้ร่ายมนต์พรหมจินดามีองค์ 61
และเหล่าชนที่ใช้วิชาอื่น ๆ
จะไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่มี
[220] อนึ่ง แม้ฤๅษีทั้งหลายผู้สงบ สำรวม บำเพ็ญตบะ
ก็ยังต้องละทิ้งร่างกายไปตามกาลอันสมควร
[221] แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้อบรมตนแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ สิ้นบุญและบาป
ก็ยังต้องทอดทิ้งร่างกายนี้ไป
(พระเจ้าวาสุเทพตรัสว่า)
[222] เธอมาช่วยรดเราผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมด
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

เชิงอรรถ :
1 องค์ 6 คือ 1. สิกขา (การศึกษาในการออกสำเนียง และการอ่าน มีการอ่านให้ถูกจังหวะ ให้คล่อง
และให้ไพเราะ) 2. กัปปะ (รู้จักแบบแผน การกระทำกิจพิธีต่าง ๆ พิธีสวดคัมภีร์พระเวท ) 3. นิรุตฺติ
(รู้จักมูลและคำแปลศัพท์) 4. พยากรณะ (รู้จักตำราภาษามีของปาณินิ เป็นต้น) 5. โธติสัตถะ (รู้จัก
ดวงดาวและหาฤกษ์ ผูกดวงชตา) 6. ฉันทะ (รู้จักคณะฉันท์ แต่งฉันท์ได้) (ขุ.เปต.อ. 219/106) ดู
อภิธา. คาถา 110

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :203 }