เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 5. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
(พราหมณ์เมื่อจะถามต่อไป จึงกล่าวว่า)
[196] เจ้าเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ1
เจ้าเป็นใคร หรือเป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักเจ้าได้อย่างไร
(มาณพเปิดเผยตนแก่พราหมณ์นั้นว่า)
[197] ท่านเองเผาบุตรที่ป่าช้าแล้ว
คร่ำครวญร้องไห้ถึงบุตรคนใด
บุตรคนนั้นคือข้าพเจ้าซึ่งทำกุศลกรรมแล้ว
ถึงความเป็นสหายของทวยเทพชั้นดาวดึงส์
(พราหมณ์ถามว่า)
[198] เมื่อเจ้าให้ทานน้อยหรือมากในเรือนของตน
หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้น ข้าพเจ้ามิได้เห็น
เพราะทำกรรมอะไรไว้เจ้าจึงไปเทวโลกได้
(มาณพตอบว่า)
[199] ข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้ ได้รับทุกข์
มีกายกระสับกระส่ายอยู่ในที่อยู่ของตน
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสดังธุลี
ทรงข้ามพ้นความสงสัย เสด็จไปดีแล้ว มีพระปัญญาไม่ต่ำทราม

เชิงอรรถ :
1 หมายถึง ท้าวสักกะผู้ให้ทานในกาลก่อน เป็นชื่อหนึ่งของท้าวสักกะ ท้าวสักกะมีชื่อที่รู้กันส่วนมาก 7
ชื่อ คือ (1) ท้าวมฆวาน เพราะเคยเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อมฆมาณพ (2) ท้าวปุรินททะ เพราะเคยให้
ทานในกาลก่อน (3) ท้าวสักกะ เพราะให้ทานโดยเคารพ (4) ท้าววาสวะ เพราะให้ที่พักอาศัย
(5) ท้าวสหัสสักขะ เพราะคิดเนื้อความตั้งพันได้โดยครู่เดียว (6) ท้าวสุชัมบดี เพราะเป็นพระสวามีของ
นางสุชาดา (7) ท้าวเทวานมินทะ เพราะครองราชเป็นใหญ่กว่าเทพชั้นดาวดึงส์ (วินัย. 4/258/276)
อีกนัยหนึ่ง มี 20 ชื่อ คือ สักกะ ปุรินททะ เทวราชา วชิรปาณี สุชัมบดี สหัสสักขะ มหินทะ
วชิราวุธ วาสวะ ทสสตนัย (สหัสสนัย) ติทิวาธิภู สุรนาถ วิชิรหัตถะ ภูตปัตยะ มฆวา โกสีย์ อินโท
วัตรภู ปากสาสน์ วิโฑโช (ดู อภิธา. คาถา 18-19)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :199 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 5. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
[200] ข้าพเจ้านั้นมีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
ได้ทำอัญชลีกรรมแด่พระตถาคต
ข้าพเจ้าครั้นทำกุศลกรรมนั้นแล้ว
ได้เกิดร่วมกับหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[201] น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
อัญชลีกรรมมีผลเป็นได้ถึงเช่นนี้
แม้ข้าพเจ้าก็มีใจเบิกบาน มีจิตเลื่อมใส
จึงขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่เอง
(มาณพกล่าวว่า)
[202] ท่านจงมีจิตเลื่อมใส
ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
เป็นที่พึ่งที่ระลึกในวันนี้นี่แหละ
อนึ่ง ท่านจงสมาทานสิกขาบท 5 อย่าให้ขาดและด่างพร้อย
[203] คือ จงรีบงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก
ยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อย่ากล่าวเท็จ อย่าดื่มน้ำเมา
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[204] เทวดาผู้น่าบูชา ท่านเป็นผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[205] ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
พระธรรมอันยอดเยี่ยม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :200 }